banner
จันทร์ ที่ 18 เดือน มิถุนายน พ.ศ.2561 แก้ไข admin

ห้องเรียน...ห้องทำงานจริง (ตอนที่ 6)



 
นางสาวทองพูล  บัวศรี

ผู้จัดการโครงการครูข้างถนน  มูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก

 

ครูคะ  หนูเป็นนักศึกษา สาขาวิชาการพัฒนาชุมชน คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์  และศูนย์สหกิจศึกษา  มหาวิทยาลัยราชภัฎอุตรดิตถ์  ขอฝึกงานที่โครงการของครู รับฝึกไหมคะ  ช่วงที่ติดต่อประมาณเดือนพฤศจิกายน 2560

ด้วยครูเองมีโครงการที่ต้องรับผิดชอบ  ได้แก่ โครงการครูข้างถนน  โครงการโรงเรียนเด็กก่อสร้างเคลื่อนที่ และเป็นที่ปรึกษาของโครงการศูนย์เด็กก่อสร้าง   โดยนักศึกษาทั้งสองคน ชื่อเจมส์ กับจอม  (ขอใช้ชื่อเล่น ในงานครั้งนี้)   โดยเด็กฝึกงานครั้งนี้ต้องมีการทำโครงการด้วยเพื่อเป็นผลผลิตให้คณะ   สำหรับครูเองคือเป็นงานอีกชิ้นหนึ่งเหมือนฝึกคน  แต่ครูเองมีงานมากหลายเรื่องด้วยกัน  แต่คิดว่าเป็นประโยชน์กับเด็กลูกกรรมก่อสร้าง  ตัวนักศึกษา และตัวโครงการที่น่าจะได้ผลผลิตมาใช้ในงานต่อไป  จึงรับนักศึกษามาฝึกงาน

กำหนดการฝึกงานครั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 8 มกราคม 2561 ถึง วันที่ 27 เมษายน 2561 จำนวน 4 เดือนด้วยกัน ในการที่ต้องเรียนรู้งานภาคสนาม และการทำงานเหมือนเจ้าหน้าที่ของโครงการที่ฝึก


วันที่น้องทั้งสองคน  น้องต้องพักที่มูลนิธิฯ ทางมูลนิธิมีห้องให้พัก  แต่ทุกอย่างต้องมาทำความสะอาดเอง  เป็นงานแรก คือการจัดการที่พักของตัวเองก่อน  เพราะที่มูลนิธิฯจะไม่มีแม่บ้าน ครูทุกคนและเด็กทุกคนต้องจัดการตัวเองก่อน  หลังจากนั้นน้องทั้งสองคนก็เริ่มไปเรียนรู้งานของบ้านอุปถัมภ์เด็กพร้อมกับช่วยงานบางอย่างที่ช่วยและเรียนรู้ได้  

ตั้งแต่การเริ่มทำความสะอาดร่วมกับเด็ก  การดูแลเด็ก โดยการเป็นเพื่อนคุย เพื่อนทำ  ทำแบบสนุกสนาน  ช่วยสอนหนังสือการบ้านของเด็ก การอ่าน เขียน   ไปรวมกับเด็กในการไปทำกิจกรรมที่บ้านสร้างสรรค์เด็ก  ซึ่งเป็นบ้านเด็กผู้ชาย

จนถึงวันที่ 8 มกราคม 2561  ซึ่งน้องทั้งสองคนมารายงานตัวกับครูที่ต้องรับผิดชอบในการพี่เลี้ยง  ในการฝึกงานครั้งนี้  และพูดคุยกันเรื่องทำโครงการที่มาอบรมในครั้งนี้

น้องเจมส์ จะศึกษารูปแบบกระบวนการทำงานของโครงการโรงเรียนเด็กก่อสร้างเคลื่อนที่  ซึ่งมีครูซิ้มกับครูเอก เป็นผู้ดำเนินโครงการ


น้องจอม  จะศึกษารูปแบบกระบวนการทำงานของโครงการครูข้างถนน  ซึ่งเป็นโครงการที่ต้องฝังตัวอย่างมาก พร้อมทั้งต้องเดินลุยพื้นที่  เป็นงานที่ให้เห็นผลผลิตแค่ 4 เดือนยากเกินไป   ครูพี่เลี้ยงภาคสนามขอเปลี่ยนโครงการที่จะให้ศึกษา  คือ โครงการศูนย์เด็กก่อสร้าง   และจะได้ทำโครงการต่อเนื่อง ด้วยกันได้  เป็นงานที่ฐานหลักในการสอนเด็กก่อสร้าง  แล้วขยายผลไปต่อ โรงเรียนเด็กก่อสร้างเคลื่อนที่ เพื่อให้เห็นว่าเป็นงานเดียวกัน เพียงแค่วิธีการ การเข้าหาเด็กและกิจกรรมจะแตกต่างกันไปเท่านั้น

ส่วนโครงการที่จะทำให้ทั้งสองโครงการ ครูต้องการหลักสูตรในการสอนเด็กลูกกรรมกรก่อสร้าง  ซึ่งเคยมีท่าน ดร.สุชาติ ลี้ตระกูล  เคยทำไว้แต่นานมาก  ปัจจุบันสถานการณ์มีการเปลี่ยนแปลง  ตัวเด็กลูกกรรมกรก่อสร้างเองก็เป็นเด็กต่างชาติมากกว่าเด็กไทย   จึงจำเป็นต้องปรับปรุงเปลี่ยนเนื้อหา ในการจัดกิจกรรมให้กับเด็กลูกกรรมกรก่อสร้าง 

เริ่มการฝึกงานและตลอดการเรียนรู้งาน  แบ่งออกเป็นสองช่วง คือ ช่วงที่หนึ่ง ตั้งแต่วันที่ 8 มกราคม จนถึง 28 กุมภาพันธ์  จำนวน  7 สัปดาห์ ลงงานกับ โรงเรียนเด็กก่อสร้างเคลื่อนที่  ซึ่งลงพื้นที่ ต่างๆทุกวันจันทร์ถึงวันศุกร์  เวลาตั้งแต่ 9.00-15.00 น.  เสร็จจากงานยังมีโอกาสได้สอนการบ้านของเด็กที่บ้านอุปถัมภ์  ถือว่าการลงมือทำ คือประสบการณ์ที่แต่ละคนได้  พร้อมกับช่วงกลางคืน  เตรียมสรุปงานและการเขียนบันทึก การฝึกสอน พร้อมยกร่างรายงาน และสรุปกิจกรรมที่ทำ   งานที่ดำเนินการคืองานที่ถูกวางแผนไว้ให้น้อง น้อง ทั้งสองคนได้เรียนรู้งานที่เป็นจริง สอนเด็กจริง พบเจอคนจริงที่ทำงาน อากาศที่ร้อนอบอ้าว  เหงื่อออกเต็มกาย  เด็กก็ไม่ยอมจะกลับที่พัก ครูก็หิวข้าว  เด็กจะเรียนอย่างเดียว  จึงต้องใช้วิธีการสลับคนไปกินข้าวกับครูที่ต้องทำงาน


ตั้งแต่วันที่ 1 มินาคม จนถึง 27 เมษายน 2561  ต้องลงนอนพักและทำกิจกรรมกับเด็ก ที่โครงการศูนย์เด็กก่อสร้าง   เป็นการวางงานไว้คราวๆก่อน มีอะไรก็ค่อยมาปรึกษาหารือกันอีกครั้ง

สำหรับของนักศึกษา จะมีอาจารย์ที่ประจำคณะมานิเทศงาน 2 ครั้ง  คือวันที่ 15 กุมภาพันธ์  และวันที่ 16 มีนาคม 2561  ที่มูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก

ในการฝึกงาน ที่ต้องปฏิบัติจริง   คือลงไปกับรถโรงเรียนเด็กก่อสร้างเคลื่อนที่ ไปวันแรกลงพื้นที่ ที่บ้านพักของบริษัท33 ที่กำลังก่อสร้างกระทรวงยุติธรรม  พบเคสที่แม่เพียงแค่อายุ 14 ปี พ่ออายุ 16 ปี เท่านั้น  ต่างเป็นพ่อและแม่ มีน้อง 8 เดือนแล้ว  พ่อเด็กทำงานคนเดียว  ยายของเด็กต้องการให้ลูกสาวมีการวางแผนครอบครัว  คือการฝังเข็ม

งานนี้ครูซิ้มมาปรึกษาพร้อมทั้งให้นักศึกษาได้เรียนรู้การทำงานเป็นรายกรณี   เริ่มจากพากันไปหาข้อมูลที่ศูนย์สาธารณสุขก่อน  แต่ต้องการความสำเร็จ ครูซิ้มจึงพาไปโรงพยาบาลภูมิพล  ไปพร้อมกันทั้งสองเคส จัดการดำเนินการ เพราะครูจิ๋วอธิบายไว้วางค่าใช้จ่ายไม่กี่บาท แต่สิ่งที่ดำเนินการทั้งหมดค่าใช้จ่ายคนละ หกพันกว่าบาท  สุดท้ายครูซิ้มต้องไปต่อรองกันนักสังคมสงเคราะห์  ซึ่งน้องนักศึกษาทั้งสองคนก็ได้พบของจริงในการดำเนิน  ว่างานทุกอย่างที่ช่วยเหลือคน ครูก็ต้องต่อรองให้เคสไปต่อรอง ทุกรายกรณีจะกลัว เพราะคำว่า "อำนาจ" ที่เหนือกว่า


ครูซิ้มได้มีการส่งเด็กสามคนพี่น้องไปเรียนที่โรงเรียนสองห้อง  สังกัดกรุงเทพมหานคร ครอบครัวหนึ่งที่พ่อแม่กับปัจจุบันเป็นชาวกัมพูชา  แต่พิเศษคือเคสของน้องฟ้า พ่อเป็นคนไทยแต่หายตัวแบบติดต่อไม่ได้ แต่มีญาติที่ยังพร้อมมีชื่อพ่อในทะเบียนบ้านที่นครปฐม ส่วนแม่เป็นชาวกัมพูชา ไม่มีเอกสารใดที่เข้าเมืองถูกกฎหมาย มีลูกกับสามีใหม่อีกสองคนเป็นเด็กชาย   น้องฟ้าทำหน้าที่ดูแลน้อง จึงบอกกับครูซิ้มว่าให้นำเด็กทั้งสามคนเข้าเรียนทั้งหมด  โดยใช้มติ ครม.ปี 35 แก้ไข ปี 2548 ให้เด็กทุกคนที่ไม่มีเอกสาร สามารถเข้าเรียนได้ตั้งแต่อนุบาลจนถึงระดับอุดมศึกษา  ทั้งสามชีวิตได้ไปโรงเรียนทั้งพ่อและแม่ต่างก็ดีใจที่ลูกได้เรียน   งานอย่างนี้ต้องใช้ทั้งความรู้และความเชี่ยวชาญในการรู้ว่ามีระเบียบอะไรบ้าง  และต้องทำงานต่อเนื่องกับกรณีศึกษา

กรณีของน้องกิ่ง ในเรื่องการขอบุตรบุญธรรม  เดิมพ่อแม่ของน้องกิ่งเป็นชาวพม่า แต่ได้หายไป เด็กน้อยได้ฝากครอบครัวคนไทยเลี้ยงตั้งแต่แบเบาะ  ครอบครัวคนไทยต้องการรับรองเป็นบุตรบุญธรรม  ซึ่งใช้เวลามาหลายปี  และเสียเงินเป็นจำนวนมาก   ครูจึงต้องศึกษาและปรึกษากับท่านผู้อำนวยการบุตรบุญธรรม   ซึ่งได้นำกรณีเข้าประชุมคณะกรรมการบุตรบุญธรรม  และได้มาทดลองเลี้ยง พร้อมทั้งการนำชื่อเด็กเข้าทะเบียนบ้าน  แต่เป็นเด็กต่างด้าวในขณะนี้ได้เพียงทำประวัติเด็กไว้ก่อน  และใช้กฎหมายที่เด็กอยู่ในประเทศไทยต่อเนื่องสิบปี หรือเด็กเรียนจบระดับปริญญาตรี  จึงจะได้สัญชาติไทย เป็นงานที่ต้องเรียนรู้


นักศึกษาทั้งสองคน ได้มีโอกาสเรียนรู้ในการเปิดบัญชีให้เด็ก  คือน้องชิ กับน้องหยก สองศรีพี่น้อง ที่พ่อพร้อมจะนำเงินเข้าบัญชีให้ลูกสาวสองคน เป็นทุนการศึกษาต่อในอนาคต   แต่เป็นหลักประกันให้ลูกสาวในการเรียนต่อ  สิ่งที่ทางโครงการต้องดำเนินการ ในช่วงกลางวันน้องทั้งสองจะถูกขังไว้ที่ห้องพัก เพราะพ่อต้องไปทำงานก่อสร้าง  จึงขอส่งตัวน้องทั้งสองคนมายังบ้านอุปถัมภ์เด็ก  ได้อยู่ในสถานที่ปลอดภัย และได้เรียนหนังสือต่อ

ต่อด้วยเคสของน้องคนา (นามสมมุติ)  เป็นเด็กที่มีพัฒนาการช้า  ด้วยแม่และยายของเด็ก บอกว่าเป็นเด็กที่เรียนช้าเท่านั้น  ใครพูดก็ไม่ฟัง  ได้พาหลานชายคนเก่งกลับไปต่างจังหวัด  ไปเรียนที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก แต่เด็กเรียนไม่ได้ ฟังไม่รู้เรื่อง สื่อสารไม่ได้ พูดให้คนอื่นฟังไม่ได้  สุดท้ายประสานหาครูซิ้ม   จึงพานักศึกษาไปเรียนรู้ด้วยกันตั้งแต่ ไปโรงพยาบาลภูมิพล  ต้องมีการย้ายสิทธิ นำชื่อเด็กเข้าทะเบียนบ้านของมูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก   ทางโรงพยาบาลภูมิพล ว่าเครื่องมือในการพัฒนาการเด็กที่ต้องฝึกพูด  และกิจกรรมเสริมทักษะทุกด้านของเด็ก  ต้องไปเริ่มต้นมี่สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติ  ทางครูและนักศึกษาได้เรียนตั้งแต่กระบวนการทำบัตร  การวัดไข้ ความดัน ความสูง ชั่งนำหนัก  แล้วก็รอพบคุณหมอเด็กที่เชี่ยวชาญ   ได้พบคุณหมอมีคำอธิบายมากมายเกี่ยวกับการดูแล  และฝึกของเด็กทุกด้าน 


พร้อมเมื่อมาอยู่ที่บ้านพักกรรมกรก่อสร้างพร้อมครอบครัว  ต้องให้เด็กอยู่กับคนอื่นด้วย  จึงมีการประสานงานส่งเด็กเข้าไปเรียนรู้กับเด็กคนอื่นที่ศูนย์เด็กเล็กในกรมทหาร  เด็กเองก็พัฒนาการขึ้นเลย  แต่กระบวนของครูกับครอบครัวต้องทำงานด้วยกันอีกยาวไกล

ยังมีอีกหลายกรณีศึกษาที่น้องเจมส์กับน้องจอม ได้เรียนรู้   สิ่งที่ต้องจดจำไปตลอดชีวิต คืองานที่ต้องทำในช่วงกลางวัน ตั้งแต่ 10.00-15.00 น. ทุกวันคือการจัดการเรียนการสอน ซึ่งมีลูกศิษย์ตัวเล็กตัวน้อย  นั่งจ้องหน้า หนูขอเรียนหนังสือ หนูขอระบายสี  หนูขอให้ครูอ่านหนังสือนิทานให้ฟังเรื่องแล้วเรื่องเล่าหนูยังไม่เบื่อเลยอ่านอีก อ่านอีกนะครูยังสนุกอยู่  เด็กน้อยวิ่งหยิบนิทานส่งมาให้ครูฝึกสอนตลอดเวลา  ใครที่สอนเด็กเหล่านี้ให้ใจไม่รักเด็กก็อดไม่ได้ที่จะลงมาใส่ใจ  ลงมาพูดคุย นั่งเล่านิทานอย่างไม่เหน็บเหนื่อยแน่นอน  ทั้งสองคนก็เป็นเช่นนี้หลงใหลเด็กนานาชาติที่อยากเรียน อยากอ่าน อยากพูดคุย อยากเล่นของเล่นเท่าที่มีก็สุขใจ  น้องทั้งสองคนได้ใจเด็กไปเต็มเต็ม   มันคือความภูมิใจที่เด็กต้องการครูมาช่วยสอนมาช่วยเพิ่มทักษะ  เพราะเด็ก เด็กเหล่านี้มีโอกาสได้เรียนหนังสือน้อยมาก  ด้วยการเคลื่อนย้ายของครอบครัว ทุกสามเดือน

สำหรับการเขียนงานของนักศึกษาต้องจัดตารางเอาเองในช่วงกลางคืน  เพราะทางโครงการกลางวันต้องลงทำงานเหมือนกับครู   ส่วนงานเอกสารต้องทำเอง  จึงเป็นเรื่องความรับผิดชอบของน้องนักศึกษา

สำหรับการเรียนรู้กรณีศึกษา เพียงได้ดำเนินการ ไม่ได้ลงลึกถึงประวัติครอบครัว ประวัติเด็กอย่างลึกซึ้ง  เพราะงานที่ต้องดำเนินการคือโครงการที่นักศึกษาต้องลงรายละเอียด


เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2561  คือการนิเทศงานของนักศึกษาทั้งสอง  อ.แนน (ดร.ตรงกมล  สนามเขต)  เป็นน้องที่เคยเรียนสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) มาด้วยกัน  อาจารย์ที่ปรึกษางานวิทยานิพนธ์คนเดียวกัน   อ.แนน ก็รู้ดีว่า  ครูเองค่อนข้างไม่มีเวลาแต่ก็ไม่ปล่อยเรื่องงานของนักศึกษา  พร้อมทั้งปฏิบัติเองมาก่อน   ถือว่าต้องรับผิดชอบและถ่ายทอดงานให้เต็มที่ทั้งงานพื้นที่และวิชาการ   วันนิเทศงานจึงต้องอธิบายว่าสิ่งที่นักศึกษาต้องเตรียมในการเรียนรู้งานของโรงเรียนเด็กก่อสร้างเคลื่อนที่   เป็นงานที่นำร่องต่อยอดขยายผลจากงานศูนย์เด็กก่อสร้าง  งานศูนย์เด็กก่อสร้างใช้คำว่า "หิน"  แต่ต้องข้อมูลแน่น และได้ของจริง เริ่มตั้งแต่

(1) งานที่น้องนักศึกษาวิเคราะห์จุดแข็ง จุดอ่อน ของมูลนิธิสร้างสรรค์เด็กขอปรับเนื้อหาบางอย่างให้เป็นจริงในการทำงานของมูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก

(2) การเขียน TimeLine งานของโครงการศูนย์เด็กก่อสร้าง  เพื่อการส่งยอดไปงานโรงเรียนเด็กก่อสร้างเคลื่อนที่  เพราะงานศูนย์เด็กก่อสร้างมีเพียงแห่งเดียวเท่านั้น  แต่ในปัจจุบันมีแหล่งก่อสร้างจำนวนมาก  จึงจำเป็นต้องมีโครงการโรงเรียนเด็กก่อสร้างเคลื่อนที่เกิดขึ้น   พร้อมควรยกตัวอย่างกรณีศึกษาที่ทางโครงการได้ดำเนินการช่วยเหลืออย่างเป็นรูปธรรม  และถ้านักเรียนทำโมเดลรถเคลื่อนที่ได้ จะเห็นอย่างชัดเจนเวลาที่ต้องอธิบายกับกรรมการ  ว่ารถคันนี้มีความสำคัญอย่างไร

(3) ภาพรวมของบ้านพักกรรมกรก่อสร้างควรมีการแยกแยะ และจำนวนพื้นที่ที่ลง จะเห็นได้ว่า แต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัดเจน  และสถานะของบริษัทกับการดูแลคนงานก่อสร้างก็แตกต่างกัน  สำหรับบ้านพักของคนงานที่อยู่ในบริษัททีทีเอส  ควรแยกและใช้แผนผังมาเป็นองค์ประกอบการอธิบาย

(4)เตรียมยกร่างหลักสูตรในการจัดการเรียนการสอน  โดยใช้ข้อมูลที่นักศึกษาเก็บมาตลอด  และควรที่จะได้เห็นเนื้อหาสามบท  ก่อนที่จะมีการนิเทศครั้งที่สอง


งานนี้ต้องมีงานออกมาหลายชิ้นมาก  และที่สำคัญต้องเตรียมตัว เตรียมใจไปฝึกงานที่ศูนย์เด็กก่อสร้าง   งานทุกอย่างที่ทำคือประสบการณ์    ไม่มีซื้อไม่มีขาย  อยากได้ต้องทำและเรียนรู้กันไป  ใครจะบอก จะพูดให้ฟัง ก็ได้แค่รับฟัง  ของจริงยังไม่ได้ทำเลย จะเอาประสบการณ์ไหนไปพูดไปเล่า

ทั้งน้องเจมส์กับน้องจอม  สำหรับในฐานะที่ต้องรับผิดชอบโครงการก็ต้องบอกน้องสองคนสู้ไม่ถอยเหมือนกัน   แต่ทุกอย่างของจริงอยู่ที่ศูนย์เด็กก่อสร้าง  เพราะมีข้อแม้ว่าต้องนอนในแหล่งก่อสร้างด้วย  เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม ถึงแม้สองคนจะไปนอนบ้างแล้ว  ก็ใช่ว่าเป็นคำตอบสำหรับในการไปอยู่คนก่อสร้างหลายร้อยพ่อพันธุ์แม่  และเป็นคนต่างด้าวอีกต่างหาก  แต่สำหรับครูเป็นเรื่องเล็กน้อยมากเพราะอยู่มากว่าครึ่งชีวิตในการทำงานนอนในแหล่งก่อสร้าง  ครูก้าวผ่านมาได้อย่างสบายมาก

สิ่งที่ทั้งสองต้องปรับตัว  เอาเรื่องที่นอนก่อน ไปนอนที่ครูไพโรจน์ จันทะวงศ์  (ที่ถือได้ว่าเป็นครูคนเดียวในขณะนี้ ที่ใช้ชีวิตอยู่ในแหล่งก่อสัปดาห์ละ 5 วัน ตลอด 24 ชั่วโมง)  ทำงานแบบเหนื่อยสุด ทั้งเตรียมอาหาร ทั้งสอนหนังสือเด็ก ประสานงานหน่วยงานสาธารณสุข แลกเปลี่ยนพูดคุยกับผู้ปกครองเด็ก  ทำงานกับพ่อบ้าน และเจ้าหน้าที่ของบริษัท  รับผู้มาเยี่ยม ให้สัมภาษณ์กับนักข่าว   คนทำจริงก็ต้องได้รับการเผยแพร่  เพราะสิ่งที่ครูไพโรจน์ ทำคืองานของเขาและชีวิตของเขา  

เป็นห้องนอนที่กว้าง 1.80 เมตร ยาวประมาณ 3 เมตร ต้องเตรียมที่นอนและมุ้งไปกันเอง ส่วนพัดลมยกมาจากศูนย์เด็กก่อสร้างก่อน เพดานของห้องก็เป็นสี่เหลือง ข้างฝาก็สี่เหลือง  ร้อน ร้อน ร้อนสุด  ในแต่ละห้อง  ห้องเท่ากันคนงานต้องอยู่กันตั้งแต่ 3-5 คน เป็นทั้งนอน ห้องกินข้าว ห้องครัว ห้องพักผ่อน   แต่น้องสองคนที่ยังโชคดีอยู่กันแค่สองคน  แต่เวลาที่ต้องทำรายงานอาจจะไม่สะดวกเท่ากับที่พักมูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก


การอาบน้ำต้องใช้ผ้าถุง หรือไม่อย่างนั้นต้องตื่นเช้ามืดมาอาบน้ำที่ศูนย์เด็กก่อสร้าง   ถ้าตื่นสายจะไม่ทันเพราะเด็กน้อยมานั่งคอยโรงเรียนเปิดแล้ว   ทุกอย่างต้องปรับตัวเท่านั้น  การวางตัวของน้องทั้งสองคนก็ต้องปรับ  ทุกวินาที ทุกนาที มีสายตาเป็นพันคู่มองไปที่นักศึกษา  ว่าทำอะไรที่ถูกต้อง หรือมีความผิดพลาดอะไร  ข่าวจะไปได้เร็วมาก    แต่สำหรับครูสบายใจว่าทั้งสองคนไม่ดื่มเหล้า ไม่เที่ยว  ข่าวกระแสเหล่านี้จึงหายไป  ตลอดเวลาที่อยู่ไม่มีกระแสข่าวใดใดมาถึงหูครู

การจัดกิจกรรมกับเด็ก ครูไพโรจน์ จะโทรมาเล่าให้ครูฟังเสมอว่า ได้แบ่งเวลาในการสอนเด็ก  และแบ่งเด็กออกเป็นสามกลุ่ม  ให้นักศึกษาไปสองกลุ่ม ให้คิดกิจกรรมเองสอนเอง หาสื่อการเรียนการสอน  แม้แต่กิจกรรมเสริมทักษะ กีฬา นันทนาการ ให้ดำเนินการเองทุกอย่าง  บททดสอบหินมาก  แต่ก็ไม่มีเสียงระแคะระคายหูมาถึงครู    สองคนนี้สู้กันแบบสุด เพื่อไปสู้เป้าหมายที่วางไว้

ในช่วงกลางวันเป็นช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน  บอกได้เลยว่าศูนย์เด็กก่อสร้างร้อนสุดๆ เลย อย่างครูรู้ดี  อากาศก็ร้อนแล้ว แถมด้วยตู้คอนเทนเนอร์ที่เก็บความร้อนเป็นอย่างดี พัดลมยังเอาไม่อยู่เลย. 

จนมาถึงการนิเทศฝึกงานครั้งที่ 2 วันที่ 16 มีนาคม  เริ่มเห็นเนื้อหาบางเรื่อง  เห็นโมเดลของโรงเรียนเด็กก่อสร้างเคลื่อน แต่ยังขาดเนื้อหา   เห็นกรอบการยกร่างหลักสูตร  ทุกอย่างที่อาจารย์ภาคสนามได้พูด   นักศึกษาเติมเต็มมาให้



งานนี้สำหรับพี่เลี้ยงภาคสนาม  แค่นี้ครูก็พอใจ ในการสู้ของนักศึกษาว่าเป็นคนจริง ทำจริง และได้ประสบการณ์ไปจริง จริง  ไม่ใช่แค่อ่านเอกสาร  หรือฟังจากคนอื่นเท่านั้น

เป็นกังวลคือ งานเขียนที่ต้องเรียบเรียงที่ยังไม่เห็นเรื่องนี้เป็นกังวล  พร้อมทั้งตัวหลักสูตร ที่ยังไม่ผ่านการทดลองใช้เลย จะทันไหม  ไม่ใช่เคยเขียนขึ้น  ต้องทดลองด้วย   เพราะการทดลองสอน คือการพิสูจน์ว่าที่ยกร่างมานั้นใช้กับเด็กได้จริงๆ    และได้พูดไปแล้ว

ในช่วงเวลาที่เหลืออยู่ ประมาณอีกห้าสัปดาห์มันเร็วมาก   ก็กระตุ้นอยากเห็น อยากอ่าน  แต่ก็เน้นตลอดเวลาอย่าส่งครูคืนสุดท้ายของการฝึกงานนะ  ไม่ครูไม่มีเวลาในช่วงนั้น

ในช่วงเวลานั้นเสาร์-อาทิตย์ ได้เห็นนักศึกษาสองคนหอบหิ้วเอกสารกลับมาที่มูลนิธิฯ   เพราะอยู่ที่ศูนย์เด็กก่อสร้างจะไม่ได้ทำ ด้วยเพราะเด็กจะมาวุ่นวายตลอด เห็นครูอยู่ก็อยากเรียนตลอดเวลา ถ้าจะต้องทำงานที่ใช้สมาธิต้องหลบก่อน

ความเหนื่อยไม่ต้องพูดถึง  ความเครียด ได้ลิ้มลองอย่าไม่บอกก็รู้ว่าต้องเครียดแน่นอน  แค่กิจกรรมในแต่ละวัน มีพลังเท่าไรก็ต้องใช้หมด  เพราะเด็ก เด็ก ต้องการเรียนรู้ตลอดเวลา  ไม่อย่างนั้นเอาห้องเรียนไม่อยู่  เพราะเวลากิจกรรมทั้งหมดกว่า 8 ชั่วโมงก็หมดไปพร้อมเด็ก   แต่สิ่งที่ได้กลับมาคือความไว้ว่างใจจากเด็กทุกคน  จะพูดพร่ำเพ้อกับนักศึกษาทั้งสองคนแน่นอน


จนสามวันสุดท้าย  สองสาวนักศึกษาส่งเอกสารมาให้อ่าน   ครูเองต้องปรับโดยเฉพาะทฤษฎีที่ใช้ ไม่ต้องมากเน้นไปเรื่องทักษะชีวิต  เพราะหลักสูตรที่ยกร่างมาทั้งหมดเกี่ยวกับทักษะชีวิต 8 ด้านของเด็กทั้งหมด  ตั้งแต่

(1) หน่วยที่ 1 ความปลอดภัยในที่พักอาศัย   เรื่องนี้สำคัญมาก เพราะบ้านพักที่เด็ก เด็กอยู่กับครอบครัว บางบริษัทใช้ตู้คอนเทนเนอร์  บางแห่งใช้สังกะสี  บางแห่งใช้ใต้อาคารที่สร้างเสร็จแล้วเป็นที่พัก  และยังมีห้องอาบน้ำรวม   ห้องส้วมที่สูงมาก   สิ่งเหล่านี้เอาของจริงมาสอนกัน  ทั้งระบายสีและการฝึกอ่าน

(2) หน่วยที่ 2 การรักษาสุขภาพอนามัยส่วนตัว  ด้วยเด็ก เด็กไม่ค่อยอาบน้ำ  และการรักษาอนามัยของเด็กทั้งผม ฟัน หู

(3) หน่วยที่ 3 ลักษณะของโรคที่ควรรู้จักบางโรค  สำหรับโรคที่เกี่ยวข้องกับเด็กต่างด้าว คือโรคผิวหนังเรื้อรัง ที่เป็นกันมาก และยาในประเทศไทยรักษาไม่หาย ต้องกลับไปที่ประเทศกัมพูชา ใช้วิธีการเป่าและรักษาด้วยน้ำปูนใสของกัมพูชาเอง  แต่โรคหวัด ไข้เลือดออก ฟันผุ  เหา  โดยเฉพาะเด็กสาวชาวกัมพูชาที่เอาไว้ผมยาว จะมีเหา แต่การรักษาโรคเหาจึงจำเป็นอย่างมาก

(4) หน่วยที่ 4 การรักษาความสะอาดเกี่ยวกับที่พักอาศัย  เน้นเรื่องขยะที่มากมายพร้อมทั้งก่อโรคที่เกิดขึ้น

จำนวนทั้ง 4 หน่วยที่คัดสรรขึ้นมาใหม่ เป็นประโยชน์สำหรับการทำกิจกรรมให้ชัดเจนมากขึ้น  หลังจากการแลกเปลี่ยน การพูดคุยกับนักศึกษา จึงขอให้ปรับ  แล้วก็ประเมินผลการฝึกงานของทั้งสอง

เมื่อทั้งสองกลับไปรายงานตัวที่มหาวิทยาลัยได้นำข้อมูลทั้งหมดไปแลกเปลี่ยนกับนักศึกษาในชั้นเรียน  และการเสนอต่อศูนย์สหกิจศึกษา  


ได้ทราบข่าวว่านักศึกษาทั้งสองคน ได้รับรางวัล" รองชนะเลิศอันดับ 1 ประเภท Oral Presentation โดย น.ส.บุษรินทร์ คำแหง + น.ส.นิตยา กาบจันทร "

ทุกอย่างแห่งการเรียนรู้  งานของมูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก คือของ ทำจริง พัฒนาเด็กและเยาวชนให้ได้รับโอกาสที่เป็นจริง   สิ่งที่นักศึกษาจะได้รับกลับไปคือข้อมูลที่เป็นจริงทุกอย่าง  นอกนั้นเป็นความสามารถของนักศึกษาที่สร้างนวัฒนกรรม หรือการสร้างพื้นที่ให้เด็ก เด็ก ได้ยืนบนสังคมอย่างรอบด้าน

หน่วยงานต้องขอบคุณทั้งน้องเจมส์และน้อมจอมเป็นอย่างมาก   ได้นำของจริงไปเล่าสู่วงวิชาการ  ยินดีด้วยกับรางวัลที่ได้   จากการทำงานจริงในภาคสนาม