banner
พฤหัสบดี ที่ 23 เดือน พฤศจิกายน พ.ศ.2560 แก้ไข admin

ตุ๊กตาระบายสีของเด็ก




 นางสาวทองพูล   บัวศรี

ที่ปรึกษาโครงการศูนย์เด็กก่อสร้าง   มูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก

 

          แม่ครับ  แม่ต้องการอุปกรณ์การเรียนหรือ ของอะไรบ้างครับ  ผมอยากช่วยให้แม่ทำงานได้ง่ายขึ้น

          เสียงลูกชายอีกคนหนึ่งที่ครูเคยเลี้ยงดูมาก  โทรศัพท์มาถาม เพราะทางกลุ่มเพื่อนอยากสมทบทุนเป็นอุปกรณ์การเรียน

          แม่....อยากได้ ตุ๊กตาปูนปั้นสัก 200  ตัว  ขนาดไหนก็ได้  แต่อยากได้ทั้งขนาดเล็ก ขนาดกลางและขนาดใหญ่

          เสียงลูกชายตามต่อว่า  แม่จะเอาไปทำอะไร

          แม่อยากให้ไปเป็นสื่อการสอน  และการหัดจับพู่กัน ฝึกการใช้นิ้วมือและมือของเด็ก ฝึกสมาธิของเด็ก พร้อมทั้ง การรู้จักสีต่างๆ  เด็กเรียนไปด้วยฝึกทำของจริงไปด้วย

          แม่ของจำนวนเยอะหน่อย เพราะบางครั้งต้องทำหลายครั้งด้วยกัน

          แม่มีเด็กกลุ่มตั้งตั้ง 2 ขวบ จนถึง 16 ปีขึ้นไป  แถมด้วยกลุ่มแม่เด็กวัยรุ่นทั้งหลายจะได้ลงมาทำกับลูก  เรียนกับลูก  สอนลูกไปด้วย เป็นสื่ออย่างดีเลย

          เน้นว่าตุ๊กตาเหล่านี้เป็นฝีมือของเด็กที่เป็นชิ้นเดียวในโลก  เพราะมาจากจินตนาการของตัวเอง  ฝีมือของแม่กับลูกที่ช่วยกันทำ ช่วยกันสร้างสรรค์ขึ้นมา

          ตุ๊กตา 200 ตัว  ไม่มาก  ลูกชายก็ช่วยหากันมาให้แม่

          แม่..ก็นำมาลงในกิจกรรมของโรงเรียนเด็กก่อสร้างเคลื่อนที่  ในจำนวน 5 พื้นที่ด้วยกัน ที่ทางโรงเรียนเด็กก่อสร้างเคลื่อนที่ลงไปทำงานกับเด็กลูกกรรมก่อสร้างด้วย

          ครูซิ้มกับครูเอก  ครูมีตุ๊กตาปูนพลาเตอร์เอาไปใช้ได้เลย ได้มีคนซื้อมาบริจาค ใช้เป็นอุปกรณ์การสอนที่เสริมทักษะเด็กได้หลายด้านด้วยกัน  แต่ต้องดูสีน้ำที่อยู่ในกล่องก่อนว่าใช้ได้หรือเปล่า พร้อมพู่กันที่มีด้วย

          ครูทั้งสองคนก็เริ่มกิจกรรมระบายสีตุ๊กตา เดือนที่สองที่ลงไปทำกิจกรรมกับเด็กในบ้านพักแหล่งก่อสร้างต่างๆ

          ครั้งแรก พื้นที่ศูนย์ราชการน้องไทร อายุกว่า 3 ปี บอกกับครูซิ้มว่าตื่นเต้นสุด สุด เลยครู  เคยเห็นแต่เขาขาย เคยอ้อนแม่ให้ซื้อให้ตัวละ 20 บาท  แม่ไม่เคยซื้อให้เลย อยากทำมาก  ตุ๊กตาของครูซึ้ม มีหลายตัวมาก ตั้งแต่ม้า  ช้าง  ตุ๊กตาเด็กผู้หญิง  รถถัง ไดโนเสาร์  กระต่าย  เป็นต้น

          เด็กเลือกตุ๊กตาไปคนละตัว  เน้นตามขนาดของเด็ก  เด็กเล็กควรเลือกตุ๊กตาที่ตัวใหญ่ ไม่ต้องมีรายละเอียดมากนะ   แล้วใช้แก้วพลาสติกใส่สีต่างๆ  แต่เน้นไปที่สีแดง  สีเหลือง สีเขียว สีฟ้า  ที่ไม่ต้องผสมสีเอง

          สำหรับเด็กเล็กเน้นพู่กันขนาดใหญ่   และพู่กันนั้นต้องเป็นขนที่ใช้ขนสัตว์จริงๆ  เพราะถ้าใช้พู่กันมากับตัวตุ๊กตาเด็กจะทำแล้วขนพู่กันก็จะหลุดตามสีมา  เด็กก็จะหงุดหงิด ว่าสีไม่สวย


          อย่างกรณีของน้องไทร แม่เข้ามาช่วยสอนตั้งแต่การจับพู่กัน การเลือกสี  การใช้พู่กันจุ่มน้ำ การสอนการจับพู่กัน  กลายเป็นว่าแม่ลูกคู่นี้ทำด้วยกันอย่างสนุกมาก

          น้องมุกที่อยู่พื้นที่บ้านพักกรรมกรก่อสร้างที่ชุมชน 9 ไร่ ของบริษัทอินตาเลี่ยนไทย  ซึ่งเป็นกลุ่มเด็กไทยอายุประมาณสักสามขวบ  พออ่านเขียน ระบายสีเสร็จแล้ว  เห็นตุ๊กตาที่ครูซิ้มกับครูเอก ยกลังลงมากจากรถโรงเรียนเด็กก่อสร้างเคลื่อนที่  ตระโกนเรียกเพื่อน เพื่อน และแม่ อย่างสนุกสนานมาก  บอกว่าหนูอยากระบายมานานแล้วแต่แม่บอกว่าหนูจะทำสกปรก

          แม่วันนี้หนูได้ทำแล้ว  คอยดูฝีมือหนูแล้วกัน   ครูซิ้มสังเกตเห็นความกระตือรือร้นของน้องมุก ที่อยากทำมาก   แม่จึงมาอธิบายกับครูซิ้มต่อว่า  เวลาที่น้องมุกไปตลาดนัด เห็นร้านค้าเอามาขาย  น้องมุกอยากได้มาก  ตัวละ 20-30 บาท  แต่เห็นว่ายังเล็กถ้าให้ทำก็ไม่สวย  แล้วก็ทำแค่ครั้งเดียวแล้วต้องทิ้ง มันเปลื้องเงิน  เอาเงินเหล่านี้ซื้ออาหารมากินด้วยกัน    ครูพวกฉันไม่ได้มีเงินมากมายที่จะซื้อมาให้ลูกทำ     ขอบคุณครูมากนะ  ช่วยให้ลูกฉันได้ทำอย่างสมใจของเขา

          สำหรับน้องชาย เป็นเด็กชาวกัมพูชาที่อยู่บ้านพักคนงานก่อสร้างที่เดอะพร๊อพ  ที่ติดตามพ่อแม่มาอยู่ในบ้านพัก  เขาตื่นเต้นสุด สุด  เคยเห็นแต่ญาติที่เรียนกัมพูชาเคยเล่าให้ฟังเรื่องระบายสี  แต่วันนี้ตัวเองได้ทำแล้ว เขาตั้งใจมากเอาน้องที่ต้องเลี้ยงฝากน้าช่วยดูแลให้ชั่วคราว  ตุ๊กตาที่เขาใช้ความตั้งใจจึงสวยงามมมาก  และยังบอกครูซิ้มว่าเหมือนฝันเป็นจริงทุกประการ ได้จับพู่กันจริงๆ  ได้ลงสีบนปูนพลาสเตอร์  สีซึ้มที่ละน้อยเขาเป็นสีสัน  เพราะเคยเห็นที่เขาระบายเสร็จแล้ว  ครูครับผมขอทำอีกตัวใด้ไหมทำทำให้น้องสาว อายุ 2 ปี ที่ผมต้องดูแล  เมื่อเสร็จแล้วจะเอาเก็บไปอวดพ่อกับแม่ ขอตั้งไว้ที่ห้องพัก บนทีวี


          สำหรับน้องไผ่กับแม่ที่ช่วยกันระบายและเรียนรู้ด้วยกัน  น้องยังจับพู่กันไม่ถนัด  จึงค่อย ค่อย จับมือกัน  ระบายสีที่ละข้างของตุ๊กตา  ครูซิ้มให้ตัวน้อยมาจึงต้องใช้ความละเอียด  แต่เป็นสิ่งที่ดีมาก  ที่แม่ได้เข้ามาสอนด้วยมือของแม่เอง  ตุ๊กตาตัวนี้จึงเป็นของแม่ลูกผูกพันกันอย่างเห็นได้ชัด  ลูกจะคอยบอกแม่ว่าอยากได้สีเหลือง  สีแดง สีน้ำเงิน สีเขียว  แม่ก็คอยสอนว่าจะต้องใช้พู่กันจุ่มสี แล้วอย่าให้หยด  ใช้การปาดสีที่ขอบจานสีก่อน  อย่าให้เลอะไปถูกสีอื่น   เมื่อระบายสีแดงเสร็จนำพู่กันไปล้างน้ำก่อน ให้สีแดงที่ค้างอยู่ให้หมด  ค่อยไปจุ่มสีอื่น  งานนี้แม่เป็นผู้สอนเอง  เห็นแล้วครูซิ้มก็ยิ้มแก้มปริ  งานเหล่านี้ใช้เป็นสื่อเชื่อมความสัมพันธ์ ความผูกพันในครอบครัว  ด้วยกิจกรรม

          เสียงเด็กเป็นกลุ่ม เรียกครูเอกครับ  ช่วยมาดูที่พวกผมระบายสีกันหน่อยครับ  สีให้กล่องจานที่ติดมากับตุ๊กตามันแห้งควรที่จะเติมน้ำมากหรือน้อยดีครับ   ครูเอกจึงมานั่งด้วยกันเด็ก 7-8 คน ที่ล้อมโต๊ะญี่ปุ่นอยู่  อธิบายถุงการเติมน้ำที่ละน้อยลงที่สี  ใช้พู่กันละเลงอย่าให้หกให้สีที่จับกันเป็นก้อนละลายออกก่อน  แล้วปาดสี่ที่ติดมาให้อยู่ในขอบกล่องสีแต่ละสี   แล้วนำพู่กันไปล้างให้สะอาด  ถึงจะไปละเลงสีใหม่  ทำที่ละสีใช้เวลาหน่อย แต่จะได้สีที่ไม่จับกันเป็นก้อน  ทำกันไปก็หัวเราะกันไป  เด็กบางคนใจร้อนอยากทดลองเอง  พอจุ่มสีแดงเสร็จนำไปใส่สีเหลือง  มีบางคนก็จุ่มพร้อมกันสามสีเลยกลายเป็นสีน้ำตาลแดง  มีสีใหม่เกิดขึ้น  นำไปทาสีบนตัวตุ๊กตา  ออกมาเหมือนสีกะปิเลย   แต่มันคืองาน จินตนาการของเด็ก  เด็กได้มีโอกาสลองผิดลองถูก  แต่ที่สำคัญสุดคือการได้ลงมือทำ  ทำบนตัวตุ๊กตาของเด็กแต่ละคน


          ฝีมือการระบายสีของเด็กจะเลอะเทอะอย่างไร  เด็กจะมากองรวมกันตากให้แห้ง  พอถึงเวลาก็บอกว่า ครูครับของตุ๊กตากลับบ้าน  เพื่อเอาไปอาดพ่อกับแม่  ว่านี้คือตุ๊กตาแสนสวยของเขา  และทำเองด้วย  ของจริงด้วย  จึงกลายเป็นเรื่องเล่าของครอบครัว ที่พ่อแม่หายเหนื่อย  เพราะเรื่องเล่าของพวกหนูทุกคน

          อุปกรณ์การเรียนเพื่อการเสริมทักษะ กล้ามเนื้อมือ การสังเกต การใช้มือ  จำเป็นต้องให้เด็กที่เข้ามาทำกิจกรรมกับโรงเรียนเด็กก่อสร้างเคลื่อนที่ ได้มีโอกาสได้ทำ และพัฒนาทักษะการจับพู่กัน การใช้สี  เด็กเล็กเองแม่ก็ได้มีส่วนร่วมกับลูก คือการสร้างความผูกพัน  ความสัมพันธ์เชิงบวกในการทำกิจกรรมด้วย

          ทางโครงการโรงเรียนเด็กก่อสร้างเคลื่อนที่  จะรับบริจาคอุปกรณ์การเรียนทุกชนิดที่ลงไปทำกับเด็กลูกกรรมกรก่อสร้าง  เพื่อให้เด็กเหล่านี้ ได้เห็นของจริง ทำจริงปฎิบัติจริง