banner
อังคาร ที่ 19 เดือน มกราคม พ.ศ.2564 แก้ไข admin

เอกซเรย์เด็กเร่ร่อนกลุ่มเปราะบางกลางกรุงเข้าไม่ถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน ใส่ใจ...ทุกวันคือ “วันเด็ก”

 

นางสาวทองพูล    บัวศรี

ผู้จัดการโครงการครูข้างถนน  มูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก

 

          “เด็กไทยวิถีใหม่  รวมไทยสร้างชาติ  ด้วยภักดีมีคุณธรรม”

            คำขวัญวันเด็กประจำปี 2564 ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี  มอบให้กับเด็กไทย

          ทุกปีหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนจะระดมจัดกิจกรรมพร้อมมอบขอขวัญให้เด็กได้สนุกสนานแต่ปีนี้ด้วยสถานการณ์โรคโควิด-19 ที่ยังระบาด จึงต้องพับกิจกรรมวันเด็กในวันที่ 9 มกราคม 2564

          แต่เมื่อเด็กคืออนาคตของชาติ ทุกๆวันจึงนับเป็นวันเด็กของเด็กทุกกลุ่มทุกคน

          ทีมข่าวการพัฒนาสังคม จึงขอทำหน้าที่สะท้อนถึงเด็กกลุ่มหนึ่งที่ต้องการโอกาส นั่นคือ กลุ่มเด็กเร่ร่อน

          “วันเด็กคือทุกวันของเด็ก” มุมมอง “ครูจิ๋ว” นางสาวทองพูล  บัวศรี  ผู้จัดการโครงการครูข้างถนน  มูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก  ที่คลุกคลีทำงานช่วยเหลือเด็กๆข้างถนน  ได้สะท้อนพร้อมทั้งฝากถึงทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องหันมาให้ความสำคัญกลุ่มเด็กเปราะบางซึ่งมีจำนวนไม่น้อย  ที่ยังไม่สามารถเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน  โดยเฉพาะด้านการศึกษา  สาธารณสุข การอยู่อย่างปลอดภัย
 

          นางสาวทองพูล  บัวศรี ฉายภาพให้เห็นว่า เด็กกลุ่มเปราะบางในกรุเทพมหานครคือ เด็กเร่ร่อน บ่าง 3 กลุ่ม คือ

          1.กลุ่มเด็กเร่ร่อนถาวร ซึ่งออกมาจากชุมชน ครอบครัว เพราะไม่อยากรับภาระ  บางส่วนมาจากสถานสงเคราะห์รัฐ หรือหน่วยงานเอกชน เพราะไม่ต้องการอยู่ในระเบียบ  จึงมาเร่ร่อนอยู่บริเวณอยู่บริเวณใต้ทางด่วน ส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่นอายุระหว่าง 12-18 ปี  หากินกับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ แต่ช่วงโควิด-19 ระบาด ก็หันมาเก็บขยะบ้าง แกะเส้นลวดทองแดงบ้าง กลุ่มนี้มีความเสี่ยงที่จะกระทำผิดสูง ทั้งการก่ออาชญากรรม การเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด บางคนเป็นเหยื่อของกฎหมายที่มีการบังคับหรือถูกจ้างวานให้ติดคุกเพื่อสร้างผลงานให้กับท้องที่

          2.กลุ่มเด็กเร่ร่อนชั่วคราว ที่มาเช่าบ้านอยู่ตามชุมชนต่างๆเช่น ชุมชนโค้งรถไฟยมราช ชุมชนคลองส้มป่อย  ชุมชนเพชรบุรีตัดใหม่ ซอย 5 ซอย 7 ชุมชนแยกคลองตัน ชุมชนซอยเสือใหญ่อุทิศ  มีตั้งแต่ระดับอนุบาลถึง ม.3 ปวช-ปวส. เด็กกลุ่มนี้ส่วนใหญ่ออกมาขายพวงมาลัย ดอกจำปี กล้วยแขก บนท้องถนน  ยิ่งช่วงการระบาดของโรคโควิด-19  พ่อแม่ตกงาน เด็กเหล่านี้ต้องรับผิดชอบหารายได้เป็นค่าเช่าบ้าน ค่าน้ำ-ค่าไฟ ค่าใช้จ่ายในบ้าน  จำนวยไม่น้อย เป็นครอบครัวแหว่างกลางอยู่กับปู่ย่า ตายาย  พ่อแม่ทิ้งหรือไปทำงานนอกพื้นที่


 

          3.กลุ่มเด็กเร่ร่อนต่างด้าว ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ชุมชนเปรมฤทัย สำโรงเหนือ ชุมชนบ่อนไก่ แยกโรงปูนคลองตัน  กลุ่มนี้มักจะออกขอทาน บริเวณซอยนาน อิมเพียลสำโรง นอกจากนี้ยังมีกลุ่มกรรมกรก่อสร้าง ที่เคลื่อนย้ายไปตามที่ต่างๆ

          ครูจิ๋วยังบอกถึงปัญหาภาพรวมกลุ่มเด็กเปราะบางเหล่านี้ว่า “กว่าครึ่งไม่ได้เรียนหนังสือ ส่วนหนึ่งมาจากปัจจัยคาใช้จ่ายนอกเหนือจากการเรียนที่ผลักเด็กออกจากระบบไม่ว่าจะเป็นค่ากิจกรรมต่างๆ ค่าเรียนคอมพิวเตอร์  ค่าชุดลูกเสือเนตรนารี  ทำให้เด็กไม่สามารถเรียนได้ตลอดรอดฝั่ง  บางคนถูกผลักให้ออกมาเป็นแรงงานแต่เด็ก  เพื่อช่วยเลี้ยงครอบครัว ซึ่งก็ต้องเสี่ยงกับภัยอันตรายรอบตัว รวมถึงบางครอบครัวก็เข้าไม่ถึงสวัสดิการ โดยเฉพาะเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด เพราะไม่มีบัตรประชาชน ไม่มีเลข 13 หลัก “

          สำหรับการทำงานของหน่วยงานภาครัฐกับการดูแลช่วยเหลือเหล่านี้  นางสาวทองพูล มองว่า “เรามีกฎระเบียบที่ดี แต่วิธีปฏิบัติเพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาที่แท้จริวยังมีข้อจำกัด เพราะยึดติดกับกฎระเบียบบนแผ่นกระดาษ ในขณะที่ปัญหาเด็กในชีวิตจริงไม่สามารถรอได้  แต่ละเคสที่เราลงไปช่วยเหลือ ไม่ได้เหมือนกัน เราต้องพยายามค้นหา แก้ปมปัญหาไปทีละปม โดยยึดประโยชน์ที่จะเกิดกับเด็กให้ได้มากที่สุด  ซึ่งประสบการณ์ที่เกิดจากการทำงาน  มีส่วนทำให้เราเรียนรู้และพยายามค้นหาทางนำไปสู่การแก้ปัญหา หากเราเห็นปัญหาแล้วเราไม่เร่งแก้ก็เหมือนการผลักเด็กออกไปเผชิญปัญหาที่มากยิ่งขึ้น  หลักการทำงานของครู คือ ลงพื้นที่เกาะติดตามและประเมินผล ทุกกรณีครูจะบันทึกข้อมูลไว้ทั้งหมดซึ่งเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่เป็นเอกสารหลักฐานในการขอรับความช่วยเหลือการสนับสนุนจากภาครัฐและหน่วยงานต่างๆ”

 

          “การเรียนเป็นการเปลี่ยนอนาคตและให้โอกาสเด็กได้มีวิถีชีวิตและการทำงานที่ดีขึ้น  จึงต้องช่วยเหลือสนับสนุนเด็กเข้าเรียนในระบบให้ได้อย่างน้อยให้จบการศึกษามัธยมศึกษาปีที่ 3 เพราะนอกเหนือจากความรู้ที่ได้รับ การได้เข้าอยู่ในระบบโรงเรียนยังทำให้เด็กได้รับสวัสดิการสิทธิขั้นพื้นฐานอื่นๆ เช่น ค่ารักษาพยาบาล การได้รับวัคซีน รวมทั้งเป็นการเสริมทักษะการใช้ชีวิต โดยเฉพาะเรื่องความปลอดภัย “  ความมุ่งหวังของ “ครูจิ๋ว”

            “หนูมีวันนี้เพราะครู  หนูได้เรียนเพราะครู”  เป็นคำพูดจากใจเด็กๆที่ นางสาวทองพูล กับบทบาทที่ถูกเรียกขาน “ครูข้าถนน” บอกว่าเป็นแรงขับเคลื่อนให้ทำงานช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางมาจนถึงทุกวันนี้และต่อไป

          ทีมข่าวการพัฒนาสังคม เห็นด้วยอย่างยิ่งกับวันเด็กคงไม่ใช่เป็นเพียงแค่วันเสาร์ที่สองของเดือนมกราคม  แต่ทุกวันคือวันเด็กที่ผู้ใหญ่ควรใส่ใจ
 

          สำคัญที่สุดคือ การศึกษา ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่เด็กทุกคนไม่ว่าจะอยู่ในสถานะใด ควรจะได้รับอย่างทั่วถึง

          เพราะนั่นคือสิ่งที่บ่มเพราะติดตัว ยังประมาณโยชน์ต่ออนาคตเด็ก ซึ่งก็คืออนาคตของประเทศชาติ 

ทีมข่าวการพัฒนาสังคม

เผยแพร่หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ  วันอังคารที่  5 มกราคม  2564


💰 ร่วมบริจาคเพื่อมูลนิธิฯได้ที่นี่ 👉https://www.tmbbank.com/tmbf/donate?foundation_id=00954&project_id=00954001
📲 : LINE : @fblc 👉
https://lin.ee/AucRVes
☎️ : 02574-1381
📌 แผนที่มูลนิธิฯ :
https://goo.gl/maps/VYA7E9xHzRY6Qjvw9