banner
พฤหัสบดี ที่ 17 เดือน ตุลาคม พ.ศ.2562 แก้ไข admin

ทองพูล บัวศรี ความเข้าใจและให้โอกาส ลดปัญหาเด็กเร่ร่อน

 

ตุลาคม แนวหน้าวาไรตี้  ประจำวันที่ 7 ตุลาคม  2562

 

          กว่า 30 ปี ที่ ครูจิ๋ว – ทองพูล บัวศรี แห่งมูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก คลุกคลีอยู่กับเด็กเร่ร่อน ซึ่งนับว่าเป็นปัญหาของสังคมไทยมาช้านาน และเป็นวงจรปัญหาที่ไม่มีทีท่าว่าจะหมดไปได้ง่าย ยิ่งมีความเปลี่ยนแปลงทางสังคมมากขึ้นเท่าไหร่  การแก้ไขปัญหาเด็กเร่ร่อนก็มีความซับซ้อนมากขึ้นเท่านั้น การแก้ไขปัญหาเด็กเร่ร่อนก็มีความซับซ้อนมากขึ้นเท่านั้นแต่ถึงแม้จะเป็นงานยากเท่าใด  ครูจิ๋ว ก็ยังคงไม่ถอดใจที่จะให้ความช่วยเหลือเด็กเร่ร่อนเหล่านั้น    

          ครูจิ๋ว เผยว่า เด็กเร่ร่อนเฉพาะในกรุงเทพฯ มีราวๆ 5 หมื่นคน โดยแยกเป็นเด็กเร่ร่อนไทยประมาณ 3 หมื่นคน และเด็กเร่ร่อนต่างด้าวอีกประมาณ 2 หมื่นคน เด็กเร่ร่อนในที่นี้ยังบางเป็น 3 กลุ่มหลักๆได้แก่ เด็กที่ออกจากบ้านมาอาศัยอยู่บนถนน เด็กเร่ร่อนที่ออกจากบ้านมาอาศัยบนถนนแต่ประกอบอาชีพ เช่น ขายพวงมาลัย ขอทาน เป็นต้น  และ กลุ่มที่สามคือ กลุ่มเด็กและครอบครัวที่อาศัยอยู่บนถนนและส่วนใหญ่เป็นต่างด้าว

          “ในส่วนของเด็กเร่ร่อนไทยยังแบ่งได้อีก 2 กลุ่ม คือเด็กเร่ร่อนที่ทำมาหากิน กับเด็กเร่ร่อนที่ติดเกม ซึ่งกลุ่มหลังเป็นกลุ่มเสี่ยงที่ต้องการได้รับการดูแลอย่างเร่งด่วน เพราะเป็นการนำไปสู่ปัญหาอื่นๆตามมา เช่น กลายเป็นเด็กเดินยา ไปสู่การเป็นผู้ค้า และกลายเป็นผู้ติดยา กลายเป็นเด็กลักเล็กขโมยน้อยเพื่อให้ได้เงินมาไปเล่นเกม ซึ่งอนาคตก็อาจกลายเป็นอาชญากรได้ในที่สุด”


            ในกระบวนการแก้ปัญหาในเด็กเร่ร่อนแต่ละราย ครูจิ๋วบอกว่าไม่มีหลักสูตรหรือวิธีการตายตัว  ต้องพิจารณาถึงปัญหาและความต้องการของเด็กเป็นรายบุคคล

          “เด็กแต่ละเคสไม่ใช่ว่าพบเด็กแล้วจะสามารถเข้าไปช่วยเหลือได้ทันที  แต่ต้องใช้ระยะเวลาในการทำความรู้จัก ทำให้เด็กเกิดความไว้ใจ  และศึกษาปัญหารวมถึงพฤติกรรมของเด็กแต่ละคนซึ่งอาจจะต้องใช้เวลาตั้งแต่ 8 เดือน ถึง 2 ปี ที่จะช่วยเหลือเด็กได้สำเร็จ อีกทั้งบางเคสปัญหาไม่ใช่แค่เด็กคนเดียว แต่ยังต้องเข้าไปถึงครอบครัว  ผู้ปกครองเด็กอีกด้วย เช่น กรณีของน้องเต้ (นามสมุติ) เด็กชายวัย 12ปี เคยถูกส่งไปสถานสงเคราะห์แต่ก็หนีออกมาเป็นเด็กเร่ร่อน  จนครูเข้าไปพูดคุย พบว่ามีพ่อติดเหล้า แม่ของเต้หนีไปมีสามีใหม่  พอพ่อเมาก็จะมาลงกับเต้ ทำให้เต้ออกมาเป็นเด็กเร่ร่อน  คือ ครอบครัวไม่สามารถเป็นที่พักพิงได้แน่นอน และการที่เต้ไม่สามารถอยู่ในสถานสงเคราะห์ได้ เป็นเพราะลักษณะนิสัยและพฤติกรรมของเต้ทำให้รู้ว่า สถานสงเคราะห์ต่างๆของรัฐมีกฎระเบียบเคร่งรัดมากมาย พูดง่ายๆว่าไม่ถูกจริตกับเต้  ครูก็พาเต้ไปอยู่ที่บ้านครูจา พัทยา เป็นบ้านพักเด็กเอกชน มีความพิเศษคือเป็นบ้านที่มีเด็กไม่เยอะ  ครูจ๋าใช้ระบบพี่ดูแลน้อง  พาเด็กๆไปสัมผัสวิถีธรรมชาติ ทำให้เต้รู้สึกว่าเขามีคุณค่าที่ได้ดูแลน้องๆมีพี่ๆ ที่คอยให้ความใส่ใจ และสามารถอยู่ที่นี่ได้อย่างสบายใจ ล่าสุดที่ครูจิ๋วไปเยี่ยมเขาเปิดใจมากขึ้น ให้ครูจิ๋วกอดได้ บอกครูจิ๋วว่าเขาจะเรียนให้จบมัธยมปลายแล้วจะออกมาช่วยเหลือเด็กๆเหมือนที่เขาเคยได้รับการช่วยเหลือถือเป็นเคสตัวอย่างที่เราสามารุเปลี่ยนเด็กเร่ร่อน ทำให้เขาเห็นคุณค่าในตัวเอง  และยุติการเป็นเด็กเร่ร่อนและมีความฝันถึงอนาคตของตัวเอง”

          ปัญหาเด็กเร่ร่อนไทยก็มีมากมายอยู่แล้ว  แต่มูลนิธิสร้างสรรค์เด็กก็ยังให้การช่วยเหลือเด็กเร่ร่อนต่างด้าว ท่ามกลางการถูกตั้งคำถามว่าทำไปเพื่ออะไร

          “ครูจิ๋วไม่สามารถแบ่งแยกได้ว่าต้องช่วยเหลือเด็กไทยเท่านั้น  ประเทศไทยเองก็เป็นหนึ่งในภาคีที่ร่วมลงนามในอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิเด็ก  และถ้ามองถึงปัญหาจริงๆการเข้าไปช่วยเหลือเด็กเร่ร่อนต่างด้าวก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่จะช่วยตัดตอนของปัญหาอะไรหลายๆอย่าง เช่น เด็กเร่ร่อนต่างด้าวมาพร้อมพ่อแม่ เขาไม่สามารถร้องขอสิทธิ์การรักษาพยาบาลได้ ทำให้คนกลุ่มนี้เป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการเป็นพาหนะนำโรคติดต่อ  มีชุมชนแถวสมุทรปราการที่ครูเข้าไป เป็นชุมชนต่างด้าวขนาดใหญ่ส่วนใหญ่เป็นชาวกัมพูชา  พบว่าในชุมชนนี้มีครอบครัวที่เป็นวัณโรคและเป็นกลุ่มเสี่ยงรวมกว่า  คน ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ซึ่งถ้าปล่อยไว้เขาก็จะผู้แพร่เชื้อ  มูลนิธิฯก็พาไปรักษาทั้งบ้าน  ส่วนเด็กๆเราก็พยายามที่จะช่วยให้เขาได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยมูลนิธิสนับสนุนค่าใช้จ่ายบางส่วนเท่าที่เราจะทำได้ พูดง่ายๆการช่วยเหลือเด็กเร่ร่อนต่างด้าวเราทำเพราะเป็นมนุษยธรรมขั้นพื้นฐานที่ควรจะเป็น  เพราะเด็กคือเด็ก  ไม่ว่าเด็กชาติไหนที่เข้ามาอยู่ในประเทศย่อมต้องได้รับการดูตามสมควรทั้งนั้น”

          ไม่เพียงแต่เด็กเร่ร่อน มูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก ยังได้จัดทำโครงการโรงเรียนเด็กก่อสร้างเคลื่อนที่ เพื่อข้าไปช่วยเหลือลูกหลานช่างก่อสร้างตามไซด์ก่อสร้างต่างๆ อีกด้วย

          “เด็กที่ติดตามพ่อแม่ซึ่งทำงานช่างก่อสร้าง เป็นเด็กอีกกลุ่มหนึ่งที่น่าเป็นห่วง เพราะพ่อแม่ของเด็กกลุ่มนี้ 80 เปอร์เซ็นต์ เป็นแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานอย่างผิดกฎหมาย มีชีวิตเป็นอยู่ในแคมป์ก่อสร้างเรียกว่าสลัมดีๆนี่เอง  ไม่มีคุณภาพชีวิต เด็กส่วนใหญ่จึงไม่ได้รับการศึกษา  เด็กบางคนถูกกักขังอยู่ในบ้านระหว่างที่พ่อแม่ไปทำงาน  เวลาลูกเจ็บป่วยก็ไม่กล้าไปหาหมอเพราะกลัว บางที่เจอนายจ้าง นายจ้างข่มขู่ ไม่ใช่แค่แรงงานต่างด้าว  พ่อแม่คนไทยก็มีเหมือนกันที่เข้าไม่ถึงระบบการดูพื้นฐานของภาครัฐ   โรงการโรงเรียนเด็กก่อสร้างเคลื่อนที่  เราจะขออนุญาตเจ้าของพื้นที่ก่อนจะเข้าไปทำกิจกรรม  ถ้าโครงการใดเขาไม่อนุญาตเราก็ไม่เข้าไป ในรถโรงเรียนเด็กก่อสร้างเคลื่อนที่ก็มีหนังสือ ของเด็กเล่น ขนมไปให้เด็กๆ  เราไม่ได้เน้นว่าไปสอนหนังสือ  แต่เข้าไปทำความคุ้นเคยกับเด็กๆและผู้ปกครอง และพิจารณาดูว่าเคสไหนที่สมควรได้รับการช่วยเหลือ และเขาต้องการความช่วยเหลือเราถึงจะรับเคสมาทำ

          เคสตัวอย่างที่เข้ามาไปช่วย คือ “น้องออย(นามสมุติ) พ่อแม่ทำงานก่อสร้างทั้งคู่  ตอนอายุ ประมาณ 2 ขวบ น้องออยป่วยหนักมีอาการชักรุนแรง ส่งผลให้น้องพิการทางสมอง ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้   แม่ต้องออกจากงานเพื่อมาดูแลลูก  เหลือเพียงพ่อที่เป็นคนหาเงิน  อีกทั้งไม่มีความรู้ในการหาหนทางเข้าถึงสวัสดิการสำหรับผู้พิการจากรัฐ  เคสนี้เข้าไปช่วยให้น้องออยได้ขึ้นทะเบียนคนพิการได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐ แม้ไม่มากแต่ก็พอช่วยแบ่งเบาภาระของพ่อได้  เคสนี้เป็นตัวอย่างว่าแม้จะเป็นคนไทยแต่พ่อแม่ไม่มีความรู้ และไม่มีใครช่วยเหลือที่จะชี้ช่องทางให้  จะหยุดงานก็ขาดรายได้  ก็ทำให้ลูกขาดโอกาสและสิทธิต่างๆได้”


          ครูจิ๋วทิ้งท้ายไว้ว่าปัญหาเด็กเร่ร่อนไม่หมดไปง่ายๆการแก้ปัญหาลำพังมูลนิธิสร้างสรรค์เด็กก็ไม่สามารถทำงานคนเดียวได้  ยังต้องขอความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน  เข้ามามีส่วนร่วม โดยเฉพาะหน่วยงานภาครัฐที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องโดยตรง  คนที่มีหน้าที่ความรับผิดชอบจะต้องมีความเข้มแข็งในการปฏิบัติงานตามหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดอย่างจริงจัง  ทุกวันนี้ครูจิ๋วต้องทำงานสองอย่างไปพร้อมๆกัน คือการลงพื้นที่ และการไปร่วมในเวทีต่างๆ เพื่อสร้างความร่วมมือเรียกร้องให้ทุกคนเห็นความสำคัญของปัญหาเด็กเร่ร่อน

          “ในแต่ละปีมีเคสเด็กเร่ร่อนมากมายที่ ครูจิ๋ว เข้าไปช่วยเหลือ แต่ใช่ว่าสำเร็จในระยะเวลาอันสั้นทุกเคส  บางเคสก็ล้มเหลวก็มีแต่ครูจิ๋ว  และครูอาสาสมัครของทุกมิติ เราไม่เคยท้อ  เพียงแค่มีสักเคส สองเคส ที่เราทำได้สำเร็จ  คือ สามารถส่งเด็กกลับสู่ครอบครัวได้  หรือเข้าสู่ระบบได้ ขนนำไปสู่การยุติการเป็นเด็กเร่ร่อนด้วยความสมัครใจของเด็กนั่งแหละที่เรียกว่าสำเร็จ  และทำให้พวกเรามีกำลังใจทำงาน อีกสิ่งหนึ่งที่ครูจิ๋วหวังคือกาอยากเห็นทุกคนในสังคม มีความเข้าใจ ให้โอกาสทั้งเด็กเร่ร่อนไทย เด็กเร่ร่อนต่างด้าว  มองว่าพวกเขาเป็นเด็กคนหนึ่งที่เราต้องช่วยกันดูแล เพราะการที่เราสามารถลดจำนวนเด็กเร่ร่อนได้  เท่ากับ ว่าเราได้ลดปัญหาอาชญากรรมลงได้อีกทางหนึ่ง

          ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหาเด็กเร่ร่อน สามารถติดตามข้อมูลข่าวสาร  สนับสนุนการทำงานของมูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก  ได้ที่สำนักงานมูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก  100/475 หมู่ 2 ซอยแจ้งวัฒนะ 10  แขวงทุ่งสองห้อง  เขตหลักสี่  กรุงเทพฯ 10210  โทรศัพท์ 02-574-1381 ,02-574-3753,02-5746162  โทรสาร  02-9821477  และ www.fblthai.org