banner
พุธ ที่ 10 เดือน มิถุนายน พ.ศ.2558 แก้ไข admin

เด็กเร่ร่อนคือใคร และใครบ้างที่เป็นเด็กเร่ร่อน

                 เด็กเร่ร่อนคือใคร ใครคือเด็กเร่ร่อน  เป็นคำถามที่เกิดจากคนในสังคมที่ไม่คุ้นเคยกับเด็กด้อยโอกาสเหล่านี้  และทำไมสังคมยังมีเด็กเร่ร่อนอยู่บนถนน  เป็นภาพที่ไม่น่ามองสำหรับคนที่พบเห็นในเร่ร่อนเหล่านี้ตามสถานที่ต่างๆ เช่นสวนสาธารณะ สถานีรถไฟฟ้า  สถานีขนส่ง ตามป้ายรถเมล์  ตามสี่แยก ที่ออกมาขอทาน ขายดอกไม้ เช็ดกระจก  ขายหนังสือพิมพ์  แล้วเขาไม่ได้เรียนหนังสือกันหรือ !!!

                สำหรับความหมาย เด็กเร่ร่อน[1] แบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ ได้แก่ (1) เป็นเด็กที่เร่ร่อนตามวิถีของครอบครัว ลักษณะของเด็กเร่ร่อนกลุ่มนี้ เปรียบแล้วเหมือนกับ “ยิปซี” ที่อพยพเคลื่อนย้ายไปหากินตามที่ต่างๆในผืนทราย หากแต่ “เด็กไทย” กลุ่มนี้จะเร่ตามครอบครัวไปตามแหล่งงานใหม่ ได้แก่ งานในไร่อ้อย งานกรีดยางในสวน จนถึงงานตามแหล่งก่อสร้างทั่วไปและงานขอทานที่เร่ขอและพักตามข้างทางในเมืองใหญ่ (2) เป็นเด็กเร่ร่อนที่หลุดออกมาจากครอบครัว ลักษณะของเด็กเร่ร่อนกลุ่มนี้ ส่วนใหญ่จะเป็นเด็กที่ได้รับแรงผลักอย่างรุนแรงจากครอบครัว ตั้งแต่ความแร้นแค้น ความลำบากในครอบครัว การถูกดุด่าและตบตีเป็นประจำ การถูกบังคับใช้งานอย่างหนัก จนเด็กๆ ทนรับสภาพเหล่านี้ไม่ไหว จึงหนีออกจากบ้านมาเร่ร่อนไปในทุกหนแห่งเพื่อความอยู่รอดของตัวเอง

                ความหมาย ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546   เด็กเร่ร่อน หมายความว่า เด็กที่ไม่มีบิดามารดาหรือผู้ปกครองหรือมีแต่เลี้ยงดู หรือไม่สามารถเลี้ยงดูได้ จนเป็นเหตุให้เด็กต้องเร่ร่อนไปในที่ต่างๆหรือเด็ก ที่มีพฤติกรรมใช้ชีวิตเร่ร่อน จนน่าจะเกิดอันตรายต่อสวัสดิภาพของตน

                สภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของเด็กเร่ร่อน  เปรียบเทียบชีวิตของเด็กเร่ร่อน เหมือนกับ “นกขมิ้นเหลืองอ่อน ค่ำไหนนอนนั่น ”  สภาพที่เกิดขึ้นจริงกับเด็กเร่ร่อน รวมถึงแนวโน้มความเสี่ยงที่เด็กเร่ร่อนต้องประสบ  ภายใต้คำจำกัดความสั้นๆ ที่กล่าวถึงเด็กเร่ร่อนไว้ว่า “ คือกลุ่มเด็กไร้ที่พึ่งพาอาศัยอย่างเป็นสุข มีวิถีชีวิตที่ขาดเสียซึ่งปัจจัยพื้นฐานในการครองชีวิตและยังดำรงตนอยู่ในสังคมอย่างไร้สวัสดิภาพใดใด ทั้งยังเสี่ยงต่อการกระทำและใช้เป็นเครื่องมือในทางที่ผิด”  ซึ่งสามารถขยายความให้เห็นได้เด่นชัด ดังนี้

                1. การไร้ที่พึ่งพาอาศัยอย่างเป็นสุข นับแต่ภายในครอบครัวที่ไร้สุขจนอยู่ไม่ได้กระทั่งต้องหนีออกมาใช้ชีวิตเร่ร่อน ต้องหาที่หลับนอนให้พ้นภัย   โดยหลบนอนอยู่บนต้นไม้ บนหลังคาที่พักผู้โดยสารรถเมล์ ในอุโมงค์ใต้ถนน  หลบเข้านอนในโป๊ะที่ลอยรับผู้โดยสาร  อยู่บนตอม่อใหญ่กลางแม่น้ำเจ้าพระยา  ในบ้านร้าง ในที่รกร้างต่างๆ ชานชาลารถไฟ  ใต้สะพานลอยหรือสะพานข้ามถนน เช่น สี่แยกสะพานไทย-เบลเยี่ยม  สะพานสามย่าน เป็นต้น

                2. ขาดเสียซึ่งพื้นฐานในการครองชีวิต โดยเฉพาะเครื่องนุ่งห่มที่เพียงพอ ยาและรักษายามป่วยไข้อาหารที่มีคุณภาพและพอเพียงต่อการพัฒนาร่างกายและสุขภาพ ดังนั้นภาพของเด็กเร่ร่อนที่ตระเวนขอทานและคุ้ยหาเศษสิ่งของตามถังขยะทั่วไป เพื่อใช้ซื้อหรือกินประทังชีวิตจึงเห็นอยู่ทั่วไป พร้อมๆ กับร่างกายที่สกปรกมอมแมมด้วยเสื้อผ้าชุดเดิมที่สวมอยู่ตลอด และสิ่งที่จะต้องตระหนักที่สุดยามป่วยไข้ที่ต้องนอนซมไร้คนดูแลรักษา “จนกว่าจะหายเอง”

                3. อยู่ในสังคมอย่างไร้สวัสดิภาพใดใด โดยเฉพาะในเรื่อง”การได้รับโอกาสพัฒนาตนรอบด้าน” ตั้งแต่เรื่องการศึกษา นันทนาการ การฝึกอาชีพ  การมีงานทำ  การรักษาพยาบาลเมื่อเจ็บป่วย  ซึ่งสิทธิพื้นฐานเหล่านี้เป็นสวัสดิการที่เด็กไม่ได้รับ ขณะเดียวกัน “สวัสดิภาพ” ที่จะอยู่อย่างปลอดภัยก็มีน้อย  ขาดเอกสารที่แสดงตัวตนของเด็กซึ่งทำให้ขาดสิทธิต่างๆ ที่เด็กเร่ร่อนควรพึงได้รับจากรัฐ

                4. เสี่ยงต่อการกระทำผิดและถูกใช้เป็นเครื่องมือในทางร้าย  สถานการณ์บนถนนแม้จะทำให้เด็กมีอิสรภาพ  ไม่ถูกดุด่าทุบตีจากครอบครัว แต่ก็ยังความเสี่ยงไม่น้อยที่รอคอยเด็กเหล่านี้อยู่ ตั้งแต่การรวมกลุ่มเสพยาเสพติดประเภทสารระเหย จนถึงการถูกผู้ใหญ่บังคับให้ขอทาน สอนให้ลักเล็กขโมย  การตกอยู่ในวงจรของการเป็นอาชญากร  และตกอยู่ในวงจรทางเพศ ซึ่งเป็นการขายบริการทางเพศให้กับชาวต่างชาติ และชาวไทย  จึงได้รับผลกระทบจากโรคเอดส์ ซึ่งมีเด็กเร่ร่อนหลายชีวิตที่ตกเป็นเหยื่อของโรคเอดส์

                ข้อเท็จจริงจากภาพสนามที่เด็กเร่ร่อนอยู่ในพื้นที่ต่างๆ

                เด็กเร่ร่อนพื้นที่ อุดรธานี กลุ่มเด็กเล็กที่ออกมาเร่ร่อนอยู่ในช่วงอายุ 7-13 ปี  ส่วนมากออกมาจากชุมชน แต่เด็กบางคนยังเรียนหนังสืออยู่ แค่ออกมาหารายได้เลี้ยงครอบครัว หรือบางคนออกมากับครอบครัวที่เก็บขยะ หรือขอทาน  แล้วกลับไปอาศัยในชุมชน

เด็กเร่ร่อนที่เป็นเด็กกลุ่มโตในช่วงอายุ 13-24 ปี  ส่วนมากเป็นเด็กที่ออกมาใช้ชีวิตข้างนอก  และ เด็กทุกคนที่เร่ร่อนในขณะนี้เคยผ่านสถานสงเคราะห์เด็กชายหนองคาย   สงเคราะห์เด็กขอนแก่นมา และบางคนได้พ้นการฝึกอบรมจากสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน  เขาถูกโรงเรียน บีบออกเพราะเขาไม่มีพ่อแม่ สถานสงเคราะห์ บีบให้เขาออก เพราะมีเด็กโตกว่าขู่ และทำร้าย   เกิดการเปลี่ยนแปลงของเด็กเร่ร่อน ตั้งแต่ปิดบ้าน “แสงตะวัน”ของมูลนิธิเพื่อชีวิตเด็ก  ตอนมีคดีครูหน่องตุ๋ยเด็ก เด็กเร่ร่อนส่วนหนึ่งที่เคยของที่มูลนิธิเพื่อชีวิตเด็กออกมาใช้ชีวิตเร่ร่อนเหมือนเดิม  และใช้การขายบริการทางเพศ เด็กเร่ร่อนได้ออกมาขายตัวแทนการเร่ขอเงิน เด็กเริ่มมีการติดเชื้อเอดส์ และเสียชีวิตในช่วงระยะ 2-3 ปี จำนวนหนึ่ง  ทางคณะครูเด็กเร่ร่อนของ กศน.ได้มีการจัดงานศพให้กับเด็ก โดยยึดหลักการว่า ให้เขาตาย “ตายอย่างมีความสุข”

                สำหรับเด็กกลุ่มนี้ ไม่ได้อาศัยนอนที่สวนสาธารณะ ตลาดสด ป่ายรถเมล์หรือ ท้องถนน  แต่เด็กเร่ร่อนได้รวมกลุ่มกันอยู่กลุ่มละ 2-3 คน แล้วได้เช่าบ้านอยู่ด้วยกันด้วยการแชร์การออกค่าห้อง ค่าใช้จ่าย ตลอดจนการแต่งกาย สะอาดเรียบร้อยสุภาพ มีการเตรียมตัวเรียนรู้เรื่องโรคเอดส์ ตลอดจนการรู้จักใช้ถุงยางอนามัย  และการรักษาสุขภาพอนามัยของตนเอง จนมีการต่อรองกับคนที่มาซื้อบริการทางเพศจากพวกเขา  และมีเด็กเร่ร่อนโตบางส่วนเข้าไปเกี่ยวข้องกับ  “อาชญากรรมเด็ก” เช่น ลักขโมย เสพสารเสพติด เหล้าขาว ดมกาว ทะเลาะวิวาท ท้าตี ท้าต่อยกับกลุ่มอันธพาลวัยรุ่น

                เด็กเร่ร่อนวัยรุ่นบางคนเข้า-ออก สถานพินิจและคุ้มครองเด็กจังหวัดอุดรธานี  ส่วนมากจะเกี่ยวกับคดี ลักทรัพย์  ก่อความเดือดร้อนกับผู้อื่น  และมีเด็กบางคน จำนวนไม่น้อยกว่า 10 คน ที่มีอายุเกิน 18 ปี  แล้วทำความผิด เช่น การปล้น การลักทรัพย์ คดีละเมิดทางเพศ เป็นต้น ได้ถูกตัดสินให้รับโทษอยู่ในเรือนจำ  และมีบางคนที่พ้นโทษมาแล้ว  ก็ยังใช้ชีวิตเร่ร่อน พร้อมกับการขายบริการทางเพศ

ส่วนการเคลื่อนย้ายของเด็กเร่ร่อนอุดรธานี จะใช้ชีวิตขึ้นล่องระหว่างอุดรธานี-ขอนแก่น และมีบางคนก็ไปนครราชสีมา  แต่ส่วนหนึ่งคือการลงไปพัทยา  กรุงเทพมหานคร เพื่อการขายบริการอย่างชัดเจน แล้วเด็กบางคนก็กลับใช้ชีวิตเร่ร่อนที่อุดรธานีเหมือนเดิม

เด็กเร่ร่อนพื้นที่ภูเก็ต  เป็นเด็กเร่ร่อนที่เข้ามาสู่การหารายได้ในเมือง โดยการให้เด็กเป็นเครื่องมือในการหารายได้ เช่น เด็กเล็ก ให้ออกไปขอทาน ขายดอกไม้ ขายสินค้าต่างๆกับกลุ่มนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ  สามารถพบได้ตามท้องถนนยามค่ำคืน เด็กและเยาวชนที่ใช้ชีวิตเร่ร่อนเป็นกลุ่มที่ขาดทางเลือก ขาดการศึกษา ทำให้ถูกแสวงหาประโยชน์ทางเพศจากผู้ใหญ่และเพื่อนรุ่นพี่ จนกระทั่งเข้าสู่กระบวนการขายบริการทางเพศเพื่อให้มีรายได้เลี้ยงตนเอง 

เด็กและเยาวชนเร่ร่อนยังมีพฤติกรรมทางเพศที่ไม่ปลอดภัย เช่น การเปลี่ยนคู่นอนบ่อยๆ การใช้ยาเสพติดประเภทต่างๆดื่มเหล้า การมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ใช้ถุงยางอนามัย ซึ่งมีสาเหตุมาจากเด็กและเยาวชนกลุ่มนี้ยังขาดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในเรื่องเพศศึกษาและโรคที่ติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เด็กเร่ร่อนกลุ่มนี้ เสี่ยงต่อการเป็นโรคเอดส์ และได้พบเด็กเร่ร่อนที่ติดเชื้อเอดส์ที่ยังใช้ชีวิต การขายบริการทางเพศและมีเพศสัมพันธ์กับเยาวชนกลุ่มอื่นๆ เช่น นักเรียน นักศึกษา  ทำให้มีการแพร่กระจายของโรคเอดส์สู่เด็กวัยรุ่นจำนวนมาก

และมีเด็กเร่ร่อนบางคนที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติดในสถานบริการต่างๆ โดยเฉพาะที่หาดป่าตอง  เด็กเร่ร่อนเข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติด และมีบางคนที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรม เช่น การจี้ ปล้น วิ่งราว ลักเล็กขโมยน้อย ชิงทรัพย์สิน  ที่เด็กเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ในสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน หรือสู่เรือนจำ  แต่เมื่อพ้นโทษออกมาก็ยังใช้ชีวิตเหมือนเดิม  เพราะมีไม่เอกสารทางทะเบียนและไม่ถูกการยอมรับจากสังคมหรือให้โอกาส  จนกลายเป็นเร่ร่อนผู้ใหญ่

ลักษณะของเด็กเร่ร่อน

-เด็กเร่ร่อนส่วนใหญ่ไม่ค่อยได้เรียนหนังสือ  หรือบางคนออกเรียนกลางคันไม่ชอบเรื่องการเรียน  แต่ชอบกิจกรรมที่สนุกสนาน งานศิลปะ การแข่งกีฬา  การเข้าค่าย

-เด็กที่มีบุคลิกภาพมีความเฉพาะตัว  ไม่สานใจในเรื่องความสะอาดเท่าที่ควร ผมยาว เล็บยาว กลิ่นตัวจะรุนแรง  ยกเว้นเด็กเข้าสู่กระบวนการขายบริการทางเพศ ที่จะแต่งตัวดีพอสมควร

-เด็กจะมีพฤติกรรมที่พูดจาหยาบคาย  โกหก  ก้าวร้าว โมโหง่าย  ชอบทะเลาะกับเพื่อน หรือขัดใจกันเอง มีความเปราะเบาทางด้านจิตใจเป็นอย่างมาก ต้องการความสนใจจากครูกับเพื่อน

-เป็นเด็กที่กล้าเผชิญ หรือชอบเสี่ยง ชอบสิ่งที่ท้าทาย ชอบความตื่นเต้น  เช่นกระโดดน้ำที่สะพานพุทธ  หรือวิ่งไล่กันข้ามถนนกับเพื่อนๆที่รถกำลังวิ่งอยู่  หรือบางคนก็เข้าไปนอนที่ต่อหม้อทางด่วน เป็นต้น

-เด็กเร่ร่อนบางคนผอมมาก หรือมีสภาพการติดยาเสพติด โดยเฉพาะทินเนอร์ กาว 3เค บุหรี่

-เด็กมีความสนใจในเรื่องต่างๆระยะสั้นๆๆ แต่มีความรู้สึกไว ในเรื่องที่ตัวเด็กเองเสียใจ เช่น เรื่องพ่อแม่ มีครอบครัวใหม่ หรือเลิกกับแฟน 

-เด็กจะรักกลุ่มเพื่อนมาก และติดเพื่อนมากด้วย  ใช้ชีวิตแบบง่ายๆไม่มีแบบแผน ชอบความสนุกสนานเมื่ออยู่กันเป็นกลุ่ม

                จากที่ได้กล่าวมาข้างต้นนั้นทั้งลักษณะของเด็กเร่ร่อน และความหมายของเด็กเร่ร่อนซึ่งมาจากหลายผู้ทรงคุณวุฒิและงานภาคสนาม ในงานวิจัยนี้ของใช้   ความหมายของเด็กเร่ร่อน คือ เด็กที่ไม่อยู่เป็นหลักแหล่ง อาศัยหลับนอนตามที่สาธารณะ หรือบางคนอาจมีครอบครัวอยู่แต่ไม่ต้องการอยู่กับครอบครัว หรือบางคนเช่าบ้านอยู่กันเป็นกลุ่มตามชุมชน เมื่อไม่มีรายได้ ก็จะออกมาท้องถนนเพื่อประกอบอาชีพ  เช่น ขอทาน การเช็คกระจกรถ การขายพวงมาลัย การรับจ้าง การขายบริการทางเพศ เข้าไปเกี่ยวข้องกับอาชญากรรม ค้าขายยาเสพติด  เป็นต้น 

                   


[1] วัลลภ ตังคณานุรักษ์.เด็กเร่ร่อนในสังคมไทย.เอกสารวิชาการฉบับที่ 2 ศูนย์ข้อมูลและการวิจัยเพื่อเด็ก มูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก 2535