banner
จันทร์ ที่ 14 เดือน มกราคม พ.ศ.2562 แก้ไข admin

ด้วยรักและห่วงใยจากคุณยายถึงหลานๆ (ตอนที่ 2)

 
 
นางสาวทองพูล บัวศรี

ผู้จัดการโครงการครูข้างถนน  มูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก

 

          เมื่อทางโครงการฯ ได้ดำเนินกิจกรรมกับเด็กและเยาวชนสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนกรุงเทพ ไปเรียบร้อย ก็เริ่มอีกครั้งเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน  2561  ด้วยกิจกรรมที่กลุ่มสัมพันธ์ เน้นการสร้างความสัมพันธ์ผ่อนคลาย  แทรกความสนุกสนานเฮฮา แต่ทุกอย่างมีบทเรียนของชีวิตที่แทรกในกิจกรรม ตั้งแต่การบริจาคมือ และความสัมพันธ์กับสมองสองซีก  แม้แต่ปัญหาเชาว์ที่ทายก็ท้าท้ายความรู้ของเด็กเป็นอย่างดี  เช่น ฟันน้ำนมมีกี่ซีก   ฟันแท้มีกี่ซีก  เด็กเงียบเพราะตอบสลับกัน สิ่งที่เด็กและเยาวชนได้เรียนรู้ในครั้งนี้  เด็กและเยาวชนให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี 

          ครั้งที่สอง  จึงเริ่มที่สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน จังหวัดปทุมธานี  โดยมีการประสานงานกับท่านผู้อำนวยการ ว่าที่ร้อยตรีณรงค์ เอี่ยมเหล็ก  เคยอยู่ในกรมพินิจและคุ้มเด็กและเยาวชนมาก่อน   ท่านบอกว่ายินดีเป็นอย่างยิ่งที่ทีมวิทยากร เลือกที่จะมาทำกิจกรรม ของโครงการด้วยรักและห่วงใยจากคุณยายถึงหลานๆ  เพราะท่านรู้จักคุณหญิงจันทนี  สันตะบุตร  มานาน ที่สำคัญชื่นชมกิจกรรมทุกอย่างที่ท่านทำ  เป็นสิ่งที่มอบให้กับกรมฯมาตลอด 


          พี่เกื้อ มอบให้ครูจิ๋ว พูดที่มาของโครงการฯ  ต่อด้วยกิจกรรมกลุ่มสัมพันธ์ ที่พี่ป้อมกับพี่แขกลุยต่ออย่างสนุกสนาน  สำหรับเด็กที่สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนปทุมธานี  มีเด็กผู้ชายจำนวน  56 คน เด็กและเยาวชนหญิงจำนวนกว่า 10 คน

          ความเข็มแข็ง ของเด็กผู้หญิง แม่ๆบอกว่า ให้ปฏิบัติตัวเป็นไปตามกรอบ  เห็นหน้าแล้วใจหายเพราะเด็กเรียนไม่จบระดับประถมศึกษา  จบกันแค่. ป.2 กว่าๆเท่านั้น  แล้วทุกคนก็เป็นแม่คน  เป็นผู้จำหน่ายยาเสพติด ติดร่างแหมากับสามี  บางคนพ่อแม่ฝ่ายชายก็ประกันผู้ชายไป  ผู้หญิงก็ต้องฝึกอบรมต่อ   ใจมันหาย....สถาบันครอบครัวแตกยับเยิน ไม่มีชิ้นดีเลย  ความเปราะบางที่เห็นแล้วจะแก้เรื่องครอบครัววัยรุ่นกันอย่างไร  แผนยุทธศาสตร์ที่มีอยู่  อยู่ในแผ่นกระดาษแล้วจริงๆๆใช่ไหม

          เมื่อเริ่มกิจกรรม  พี่ป้อมกับ พี่แขก ก็พยายามให้คละทั้งหญิงและชาย  คนดูแลที่นั่งอยู่ด้านหลังก็พยายามที่จะบอกว่าอย่าให้ใกล้ชิดกันมาก   ขอให้อยู่ในสายตาตลอดเวลา  สุดท้ายแต่ละกลุ่มก็มีน้องผู้หญิงไปคละ 2-3 คน  ทำให้กลุ่มดำเนินกิจกรรมอย่างสนุกสนาน อย่างความสัมพันธ์ได้เป็นอย่างดี

          กิจกรรมหลัก  คือการพับกระดาษเอสี่ เป็นสี่พับ  แล้ววาดภาพของตัวเอง  แต่ครั้งนี้เวลามีมาก ทางคณะวิทยากร จึงให้เด็กได้มีโอกาสสะท้อนกันในกลุ่ม 

          เด็กและเยาวชนได้วิเคราะห์จุดอ่อน จุดแข็งของตนเอง  ซึ่งมีเจ้าหน้าที่เข้ามารวมฟังข้อคิดของเด็กๆๆ ด้วย สำหรับผู้เขียนเองขอเข้าร่วมฟังด้วย ในการวิเคราะห์ตัวเอง  ครั้งนี้เด็กและเยาวชนชาย มีความรู้ในระดับ ม.1 จนถึง ระดับ ปวช.3  กิจกรรมจึงไปได้ด้วยดี 



          จุดแข็งของเด็กและเยาวชน

            -สร้างเสียงหัวเราะ  ตลก สนุกสนานเฮฮา

          -แบ่งปัน ช่วยเหลือคนอื่น

          -เป็นคนซื่อสัตย์ สุจริต  ตั้งใจเรียนเป็นบางครั้ง

          -รักเพื่อนฝูง  เพื่อนให้ทำอะไรก็ทำด้วยกัน 

          -เป็นคนขยัน  ช่วยพ่อแม่ทำงาน ไม่ชอบคนอ่อนแอ

          -ไม่เกี่ยงงาน ทำงานเป็นทุกอย่าง ซ่อมมอเตอร์ไซด์ ซ่อมรถกระบะ

          -เล่นกีฬาเก่ง ชอบเล่นกีฬาทุกชนิด  เป็นนักกีฬาโรงเรียน

          จุดอ่อนของเด็กและเยาวชน

            -ไม่รักตัวเอง เชื่อฟังคนอื่นมากกว่าคนในครอบครัวตัวเอง  พูดจาไม่ดีกับคนในครอบครัว

          -อยู่ร้านเกมมากกว่าอยู่ที่บ้านของตนเอง  กลับบ้านดึกมาก   รวมตัวไปแว้นตามที่ต่างๆ

          -เริ่มสูบบุหรี่  ทดลองยาเสพติดชนิดอื่นด้วย  ชอบหาสิ่งท้าท้าย  ทดลองไปเรื่อยๆ

          -เริ่มเข้าแก๊ง แข่งรถ ไล่ตี  ขายยา  สุดท้ายติดยาด้วย มีเมียด้วย

          เสียงเด็กในกลุ่มเป็นผู้ชาย บอกว่า ครูครับ พวกผมทำร้ายตัวเอง  เพราะรักตัวเองไม่เป็น จึงต้องเป็นแบบนี้ ทางเลือกมีตั้งเยอะแยะ  แต่พวกเราขาดการตัดสินใจที่รอบครอบ เพราะความคึกคะนอง  มันเป็นบทเรียนที่พวกเราต้องเรียนรู้   หนุ่มน้อยคนนี้พูดจบเสียงตบมือดังลั่นในกลุ่ม 

          ครูจึงขอบใจพวกเธอทุกคนที่รู้จักตัวเองมากขึ้น  แล้วจะนำบทเรียนปรับปรุงตัวเองอย่างไร เป็นสิ่งสำคัญ  อย่าเอาความผิดครั้งนี้กดทับไปตลอดชีวิต  ชีวิตมันต้องสู้  เสียงเด็กบอกว่าพวกผมต้องสู้กับตัวเองให้ได้ครับ  

           

            ต่อด้วยกิจกรรมบันไดงู

            โดยการใช้กลุ่มที่ตั้งขึ้นมาในการทำกิจกรรมต้องเป็นกลุ่ม  โดยมีทั้งหมด 7 กลุ่มด้วยกัน  มีการตั้งชื่อกลุ่ม  พร้อมมีเพลงประจำกลุ่ม สัญลักษณ์ประจำกลุ่ม...

          ขอเบรคอาหารว่างก่อน  อาหารว่างมื้อนี้ไม่ได้ว่างเปล่าแต่อย่างไร  เด็กและเยาวชนได้ขนมคนละ หนึ่งถุงซึ่งในถุงมี เจลรสชาติต่างๆตั้งลิ้นจี  ส้ม องุ่น   ขนมอีก 1 ชิ้น เป็นของโปรดของกลุ่มเด็กและเยาวชนเรียกร้องอยากกิน  ที่สำคัญทุกคนได้กินพร้อมเจ้าหน้าที่และทีมวิทยากรด้วย  เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่คุณยาย  อยากให้เด็กๆๆ ได้อิ่ม ได้กินเหมือนเด็กที่อยู่ข้างนอก  เพราะเป็นสิทธิแค่พื้นฐาน  คุณยายเมื่อเจอผู้เขียน หรือแม้บางครั้งก็ได้ยินเสียง  จะหันมาถามตลอดเวลาว่า “เด็กๆ กินข้าวแล้วยัง  เอาให้เขากินให้อิ่มเลยนะ”   ความห่วงใยของคุณยายแทรกอยู่ในทุกอณูของคุณยาย  ตลอดเวลา 

          เรื่องอาหารเบรกให้เจ้าหน้าที่คุยกับเด็กและเยาวชนในแต่ละแห่งเอง  โดยขอแรงเจ้าหน้าที่จัดหา โดยทางโครงการมีงบประมาณ ครั้งแรกตั้งไว้ 2,500 บาท แต่เมื่อลงไปทำงานสิ่งที่พบคือ ไม่พอจึงให้ใช้งบตามจำนวนเด็กและตามความเป็นจริงของเด็กได้  มีบางแห่งเบิกประมาณ  2,700-3,500  บาท ซึ่งพอเพียงกับเด็กและเยาวชน 


          มาเริ่มกิจกรรมบันไดงู   พี่แขกหาสำนวนที่ให้กำลังใจจำนวนกว่า 100  ข้อความ แล้วปริ้นตัดข้อความเอามาติดฝาผนังห้องประชุม  โดยไม่ได้เรียงลำดับหมายเลข

          สังเกตการณ์ดำเนินการในกลุ่ม  จะแบ่งคนออกเป็น 2 กลุ่มย่อย  กลุ่มย่อยที่หนึ่งจะมีหน้าที่คอยโยนลูกเต๋า ว่าได้หมายเลขอะไร  อีกกลุ่มย่อยที่สองจะวิ่งไปหาสำนวนพร้อมทั้งบอกว่าสำนวนนั้นว่าอย่างไร  สำหรับเด็กและเยาวชนกลุ่มนี้ พูดภาษาอังกฤษกันได้ดี  ยกเว้นเด็กและเยาวชนหญิงที่ไม่มีใครมาบอกเรื่องสำนวนเลย    ตัวอย่างการโยน  แต่ละ 

          โยนครั้งที่ 1  ได้หมายเลข 2  มีข้อความ Nothing lasts forever. ไม่มีอะไรจีรังยั่งยืนหรอก

          โยนครั้งที่  2  ได้หมายเลข 6  ให้นับต่อจากครั้งที่ 1 คือหมายเลข 8  มีข้อความว่า Look on the bright side. At least you still have me. มองในแง่ดี อย่างน้อยคุณก็มีฉันอยู่นะ

          โยนครั้งที่ 3  ได้หมายเลข 3 นับจากเลขเดิม เป็นหมายเลข 11  มีข้อความว่า Keep on fighting !!!!  สู้ๆ นะ

          โยนครั้งที่ 4  ได้หมายเลข 2 นับไปเลขเดิม เป็นหมายเลข 13  มีข้อความว่า Chill out !!! .ใจเย็นๆ


          มีบางกลุ่มที่โยนเท่าไรก็ได้ทีละหมายเลข 1 ตลอดจึงค่อยๆเคลื่อนไปที่ละแต้ม  แต่มีบางกลุ่มก็ได้หมายเลข 6 ตลอดเวลา  สุดท้ายก็ตกบันไดงู เสียงหัวเราะของเด็กและเยาวชนดังลั่นห้อง  เมื่อกลุ่มไหนที่ตกบันไดลงไป  ก็จะมีเสียงตระโกนบอกว่าเดินทางอย่างระมัดระวังนะ  อย่าใจร้อน ใจเย็นๆๆ  ทุกทางที่เดินมีหลุมพรางของตัวเองตลอดเวลา 

          หมายเลขที่แต่ละกลุ่มจะซ้ำเสมอ เช่น ข้อ 14 ข้อความว่า Don’t discourage !  อย่าเพิ่งท้อแท้ไปเลย

          หมายเลข 17 ข้อความว่า Don’t think too much.  อย่าคิดมากไปเลยนะ

          หมายเลข 19  ข้อความว่า I will encourage you. ฉันจะเป็นกำลังใจให้นะ

          หมายเลข 23  ข้อความว่า  Be strong = เข็มแข็งไว้นะ

          แต่ละกลุ่มที่โยนไปถึงประมาณ หมายเลข 81  ประมาณนั้น  แต่การเล่นครั้งนี้สอดแทรกข้อความดีที่เด็กอ่าน  แล้วมาร่วมกลุ่มกันอีกครั้งมาสรุปในกิจกรรมครั้งนี้


          สิ่งที่ได้ประโยชน์ในกิจกรรมนี้คือ...

(1)   การทำงานเป็นทีมของกลุ่มสำคัญมาก  การเดินทางของกลุ่มต้องอาศัยทุกคนในกลุ่ม ความรับผิดชอบของแต่ละคนถึงทำให้กลุ่มไปถึงจุดหมายปลายทาง

(2)   ระหว่างทางเดินของบันไดแต่ละครั้งอุปสรรค์ก็มีตลอดเวลา  และสิ่งที่สำคัญทุกคนต้องเข้ามาร่วมจัดการกับปัญหา  แต่ทุกครั้งบทเรียนของชีวิต  ที่เอาชีวิตของพวกเราเป็นเดิมพัน

(3)   การส่งต่อกันระหว่างคนโยนลูกเต๋ากับคนวิ่งหาข้อความหมายเลขต้องประสานงานเป็นหนึ่งเดียวกัน

สิ่งสำคัญทุกการเดินทางของชีวิตมีปัญหา อุปสรรค์ ตลอดเวลา  ต้องใช้ชีวิตอย่างรอบคอบ  เหมือนที่พวกเราวิเคราะห์ตัวตน เอามาเป็นหลักการดำเนินชีวิต  เอาชีวิตไปเสี่ยง

พี่เกื้อย้ำเตือนอีกครั้งเรื่องการเปลี่ยนแปลงตัวเองของนกอินทรีย์

กิจกรรมครั้ง ท่านผู้อำนวยนั่งอยู่กับทีมวิทยากรตลอดในการทำกิจกรรม  พร้อมทั้งขอเก็บกิจกรรมของเด็กและเยาวชนเข้าแฟ้ม เพื่อเสนอต่อผู้พิพากษา  ในการฟังคำพิพากษา และกิจกรรมเหล่านี้เป็นประโยชน์มากสำหรับเด็กและเยาวชน เมื่อต้องแถลงต่อศาล