banner
พฤหัสบดี ที่ 28 เดือน มิถุนายน พ.ศ.2561 แก้ไข admin

ห้องเรียน การศึกษาของเด็กลูกกรรมกรก่อสร้าง (โต้วาที ตอนที่ 7)





 นางสาวทองพูล   บัวศรี

ผู้จัดการโครงการครูข้างถนน  มูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก

 

                  ครูจิ๋ว   ทางคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ   มีอนุกรรมการด้านการศึกษาฯ รับรองคัดเลือกเด็กในระดับอุดมศึกษา โต้วาทีภาษาอังกฤษ  ในปีนี้เน้นเรื่องการศึกษาพัฒนาคุณภาพอาเซียน  จึงต้องให้นักศึกษา จำนวน 8 คน  ศึกษาดูงานภาคสนามที่ทางโรงเรียนเด็กก่อสร้างเคลื่อนที่ ดำเนินการอยู่  ที่รุกไปถึงพื้นที่ให้เด็กภาคสนามได้เรียนรู้ของจริง  พบสภาพบ้านพัก ที่อยู่อาศัย  ห้องน้ำ ห้องส้วม  รวมถึงสภาพปัญหาของเด็กๆ

          โดยนักศึกษาต้องผ่านการคัดเลือก มาจาก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ,มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทา,มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์,มหาวิทยาลัยฟาฎอนี   ทางคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ร่วมกับ กรมอาเซียน กระทรวงการต่างประเทศ ,กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม  และผู้แทนประเทศไทยในคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน มีการแข่งขันโต้วาทีสิทธิมนุษยชนภาษาอังกฤษ ระดับอุดมศึกษา  เพื่อส่งเสริมให้เยาวชนมีความรู้ ความเข้าใจเรื่องสิทธิมนุษยชนและคัดเลือกเยาวชน จำนวน 3 คน เป็นผู้แทนประเทศไทยเข้าร่วมการแข่งขันโต้วาทีสิทธิมนุษยชนระดับเยาวชนในประชาคมอาเซียน (AICHR Youth Debates on Human Rights) ระหว่าง วันที่ 25-27 มิถุนายน 2561 ณ. กรุงพนมเปญ ราชอาณาจักรกัมพูชา

          เมื่อช่วงวันที่ 20-22 เมษายน 2561 ได้มีการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เรื่อง การส่งเสริมสิทธิมนุษยชนสำหรับนิสิต นักศึกษา เพื่อคัดเลือกเป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมการแข่งขันโต้วาทีสิทธิมนุษยชนระดับเยาวชนในประชาคมอาเซียน  เฉพาะประเทศก่อน  โดยมี ผู้ช่วยศาสตรจารย์ ปิยนารถ ฟ้กทองพรรณ  และ Mr.JAMES R. HAFT  อาจารย์สถาบันภาษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย




          ในช่วงเช้าของวันที่ 20 เมษายน 2561  มีการบรรยาย เรื่อง “เด็กในแคมป์คนงานก่อสร้าง: โอกาสลูกกรรมกรก่อสร้างในการเข้าถึงการศึกษา” ในช่วงเวลา เก้าโมงจนถึงสิบโมงเช้า ในช่วงนี้นักศึกษาที่เข้าสัมมนาในครั้งนี้ มีคำถามมากมาย   แต่ทุกคนบอกว่าความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของประเทศเรายังมีอยู่จริง  แต่ยังได้เอื้ออาทรให้กับเด็กต่างชาติทั้งพม่า กัมพูชา ลาว เวียดนาม ฯลฯ อีกจำนวนมาก  ต้องขอบคุณองค์กรเอกชนเหล่านี้  ที่ลุยถึงที่พักของเด็ก

          คำถามแรก ...เด็กเหล่านี้เข้าโรงเรียนได้ไหม

          ครูจิ๋ว ตอบ...เด็กที่เป็นเด็กไทย เข้าเรียนได้ตามกฎหมาย เช่น บ้านพักของบริษัทอิตาเลี่ยนไทย ที่กำลังก่อสร้างรถไฟฟ้าสีม่วง  มีเด็กได้เข้าเรียนจำนวน 21 คน เป็นเด็กไทยทั้งหมด  ซึ่งการดูแลสวัสดิการคนก่อสร้างได้ดีในระดับหนึ่ง  ลักษณะของบ้านพักมันคงถาวร

                   สำหรับกรณีเด็กต่างด้าว ครูใช้ "คู่มือและแนวปฏิบัติสำหรับการจัดการศึกษาแก่บุคคลที่ไม่มีหลักฐานทะเบียนราษฎรหรือไม่มีสัญชาติไทย"  ซึ่งเป็นมติ ครม.ปี 2535  แก้ไข ปี พ.ศ. 2548  โดยให้เด็กที่ไม่มีเอกสารสามารถเข้าเรียนได้ตั้งแต่ ระดับอนุบาล จนถึงระดับอุดมศึกษา หรือตามความสามารถของ   ตัวอย่างเช่น

                   เด็กที่ติดตามพ่อแม่  บ้านพักกรรมกรก่อนสร้างที่ ศูนย์ราชการ  ของบริษัทชิโนไทย จำนวนสามคน  สำหรับลูกคนโตคือน้องฟ้า  พ่อเป็นคนไทย แม่เป็นกัมพูชา อายุ 12 ปีแล้วไม่ได้เรียนมาเลย  น้องอีกสองคน พ่อเป็นกัมพูชา แม่คนเดียวกัน  น้องฟ้ามาหน้าที่ดูแลน้องๆ   ถ้าจะเอาน้องฟ้าเข้าเรียน  ต้องน้องสองคนด้วย  ครูซิ้มจึงพาเด็กไปพบท่านผู้อำนวยการโรงเรียนทุ่งสองห้อง  เข้าเรียนได้ แต่อาจจะล่าช้ากว่าคนอื่น  เน้นให้เด็กที่มีวามพร้อมเข้าเรียนในระบบให้มากที่สุด


                   สองสาวน้อยของคุณครู ที่ติดตามพ่อมาอยู่ในบ้านพักกรรมกรก่อสร้างที่บริษัท 33  สร้าง กระทรวงยุติธรรม  ช่วงกลางวันพ่อขังลูกสาวไว้ที่ห้องพัก  เที่ยงกลับมากินข้าว แล้วก็ขังต่อจนถึงเย็น  พ่อถึงกลับมาอยู่กับลูก  ครูซิ้มจึงพามาที่บ้านอุปถัมภ์เด็ก  เป็นบ้านสำหรับเด็กผู้หญิงมาพักอาศัยที่ปลอดภัยกว่า และส่งเด็กไปโรงเรียนด้วย

          การศึกษาสำหรับเด็กลูกกรรมก่อสร้างไม่ได้มีโอกาสทุกคน ยิ่งตอนนี้พ่อแม่ของเด็ก เด็ก เป็นคนต่างด้าว ที่เข้าไทยมาอยู่ในแผ่นดินไทยทั้งถูกต้องตามกฎหมาย(การขึ้นทะเบียนแรงงาน)  และกลุ่มคนที่ผิดกฎหมายมีเป็นจำนวนมาก

                   คำถามที่สอง....เด็กเหล่านี้ถือได้ว่าเป็นคนผิดกฎหมายเข้าเมืองไหม

                   ครูจิ๋วตอบ...มีทั้งสองส่วน เด็กคนใดที่มีพ่อแม่เข้าเมืองถูกกฎหมาย  ผู้ติดตามที่เป็นเด็กจะมีเอกสารแนบว่าเป็นผู้ติดตาม

          สำหรับพ่อแม่ของเด็กที่เข้าเมืองผิดกฎหมายประมาณร้อยละ 60 ที่ทำงานในแหล่งก่อสร้าง  และเด็กที่ติดตามมาก็ผิดกฎหมายด้วย  เวลามีการกวาดล้าง เด็กที่ไม่มีเอกสารกลุ่มนี้น่าสงสารมากต้องหลบอยู่ในบ้านพักคนงานแบบไม่ยอมออกจากห้องนอนหลบจนกว่าตำรวจจะออกไป  หรือบางครั้งพ่อแม่ถูกจับไปเด็กเหล่านี้ก็จะอยู่ในห้อง บางครั้งก็ต้องอดอาหารเพราะไม่มีใครเลย  จนกว่าพ่อแม่จะเดินทางกลับมาหาลูกที่อยู่ในบ้านพักกรรมกรก่อสร้าง  บางครอบครัวก็เอาลูกไปถูกขังที่สถานกักกัน


          เด็กเหล่านี้จะอยู่แบบหลบซ่อนตลอดเวลา  ยิ่งเวลาที่รัฐบาลให้มีการขึ้นทะเบียน หรือพิสูจน์สัญชาติ  เด็กที่อยู่ตามบ้านพักกรรมกรก่อสร้าง ซ่อนตัวให้ดี  บางครอบครัวใช้การเดินทางกลางคืนเพื่อไปให้ถึงชายแดนแต่เช้า  ใช้เส้นทางธรรมชาติข้ามไปบ้านของตัวเองก่อน   แต่การที่จะทำให้ถูกต้องตามกฎหมาย เป็นไปได้ยากมาก  เพราะค่าใช้จ่ายสูงมาก

          ตอนที่ลงพื้นที่ถามเด็ก หรือมีโอกาสได้พูดคุยกับผู้ปกครองเด็ก  ลองถามเขาเรื่องค่าใช้จ่ายในการทำให้ถูกต้องตามกฎหมาย จะมีคำอธิบายยาว  และการทำบัตรประชาชนของคนกัมพูชา ใช้เวลา  ทำพาสปอร์ต ใช้เวลาและเงินจำนวนมาก   ไม่เหมือนที่ประเทศไทย

                   คำถามที่ค้างอยู่ไปดูที่พื้นที่  แล้วพวกเราแลกเปลี่ยนกัน

                   เมื่อถึงพื้นที่ในเวลา สิบโมงสี่สิบห้าบาท  มาพบกันสองคณะ  คือทางโรงเรียนเด็กก่อสร้างเคลื่อนที่ ได้มีโอกาสถ่ายทำของ ช่องวัน  เรื่องจิตอาสาอยากรู้ ในพื้นที่ของเด็กที่ตามพ่อแม่มา

          คณะของนักศึกษาจำนวน 8 คน อาจารย์ที่ดูแล 2 คน เจ้าหน้าที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติอีก 7 คน มาถึงก็ได้มีโอการทักทายกับเด็ก เด็กที่มารอเรียนหนังสือ/ ทำกิจกรรมด้วยกัน  พร้อมด้วยพ่อแม่ของเด็กที่กำลังคัดเลือกเสื้อผ้าที่จะใช้ได้แบ่งปันกัน อีกมุมหนึ่งของสถานที่  มีแม่เด็กและวัยรุ่นมาเดินอยู่กันจำนวนมาก

          เด็กนักศึกษาที่ไม่เคยลงพื้นที่มาก่อน  และทุกคนก็ตกตะลึงกับสภาพหน้างานของการก่อสร้างที่สับสนวุ่นวายจำนวนมาก  ทั้งรถที่ขนของเข้า-ออกตลอดเวลา  เหล็กแม่แบบที่ใช้ต่อก็วางเต็มพื้นที่ไปหมด  รถยนต์ที่เป็นของคนทำงานจอดเต็มไปหมด   ซึ่งเป็นสถานที่ก่อสร้างใช้บริเวณเดี่ยวกันกับโซนที่จัดเป็นที่พัก   ที่พักของคนงานก่อสร้างเป็นสังกะสีที่แปะและตีกันห้องของคนงานเป็นอาคารที่พักสองชั้น  กับที่พักที่ติดพื้นดิน



          กลุ่มที่พวกเรายืนอยู่นั้น พื้นดินเพิ่งจะเปียกด้วยฝนตกในช่วงกลางคืน รองเท้าเต็มไปด้วยโคลน ติดพื้นรองเท้ากันเลย  นักศึกษากลุ่มนี้ไม่เคยลงพื้นที่อย่างนี้แน่นอน  เพราะอยู่แต่ในห้องเรียน 

          ครู ตั้งคำถามแรก    รู้สึกอย่างไร   มีเสียงตระโกนแบบดัง มาว่า  "เขาอยู่กันได้อย่างไร"   เป็นคำถามที่ต้องหาที่นั่งอธิบายกันยาว   จึงขอมานั่งที่โรงมีหลังคา  คนงานก่อสร้างใจดีมากลุกให้พวกเรานั่งมาคุยกัน

          ครูตอบ....แบบเกรงใจคนงานที่นอนเปลอยู่   ว่า ถ้าทุกคนมีโอกาสเท่ากับนักศึกษาคนงานเหล่านี้ก็ไม่ต้องมาแบกหาม เทปูน ก่ออิฐ ทำช่างไม้  คนเหล่านี้ เมื่อก่อนสามสิบปีที่ครูลงทำงานกับเด็กลูกกรรมกรก่อสร้าง เป็นคนไทยร้อยเปอร์เซ็นต์    แต่ปัจจุบันคนไทยที่ผันตัวเองเป็นผู้รับเหมา  มีคนงานเก้าสิบเปอร์เซ็นต์เป็นคนต่างด้าวที่อยู่ในความดูแล

          คนงานก่อสร้างอย่างที่เล่าแต่เช้าว่ามีคนงานที่เข้าเมืองอย่างถูกกฎหมายเพียงน้อยนิดเท่านั้น  ส่วนใหญ่เข้าเมืองมาผิดกฎหมาย และสามารถเดินทางมาหาผู้รับเหมาถึงไซด์งานได้เพราะมีการเพื่อนบ้านซึ่งเคยมาทำก่อน แนะวิธีการเดินทางจนมาถึงกรุงเทพ  เมื่อมาแล้วมาพักแบบนี้( สภาพบ้านพักค่อนข้างแออัด สกปรก กว่าทุกแคมป์ที่ครูเคยมาเยี่ยม เป็นแบบดั่งเดิมของงานก่อสร้างสักเมื่อสามสิบปีที่แล้ว)  คนงานที่นอนอยู่บอกว่าจริงประการ  เจ้าของโครงการไม่สนใจในการเป็นอยู่ของคนงานก่อสร้าง   เอาแต่งานอย่างเดียว  ผู้รับเหมาเองก็ไม่ไปสามารถเช่าที่สร้างบ้านพักให้ดีๆได้   ทุกคนเลยต้องอยู่


          เสียง คุณโซย  (นามสมมุติ) ที่มีลูกอ่อน   และอายุ 5 ปี อยู่กับแม่   แม่ของเด็กบอกว่า เขาต้องพากันมาทั้งครอบครัว เพราะคำว่า "หิว"  มันอด เพราะไม่มีงานให้ทำ  งานเกษตรก็ทำไม่ได้เพราะแห้งแล้ง   ไม่มีใครมาสนใจชาวบ้านอย่างพวกเราหรอก   จึงหอบหิ้วลูกๆมาหางานทำในเมืองไทย  ถึงจะถูกเอาเปรียบอย่างไร ลูกก็พอได้กิน  พ่อทำงานคนเดียวกับสี่ชีวิต  มันต้องอดทน ขยัน ประหยัดกันให้มากที่สุด  ลูกทั้งสองคนก็ได้ครูซิ้มเขาช่วย แบ่งนม/ขนมไว้ให้เด็กได้กิน  บ้านพักเป็นอย่างไรพวกเราก็ใช้นอน   ห้องน้ำ ห้องส้วม ต้องเขาคิวกันทั้งคืน  เพราะไม่พอกับคนงานจำนวนมาก  แต่พวกเราก็ต้องอาศัยกัน   พวกเราไม่มีสิทธิบ่น แค่ให้ที่อยู่ ที่กิน มีงานทำ เราก็ต้องสู้กัน เพื่อให้รอดพ้นจากความหิว

                   เรื่องการศึกษาของลูกมันคือความหวังเดียวของครอบครัว  อยากให้มีรถโรงเรียนมาสอนทุกวัน  แต่ตอนนี้ได้แค่อาทิตย์ละครั้ง  ลูกคนโตตั้งใจเรียนเป็นอย่างมาก  ครูให้อะไรไว้ทั้งวาดภาพ ระบายสี เขียนตามรอยอักษรไทย เขียนหมด ของหนังสือฝึกอ่าน  ก-ฮ ไว้ด้วย  และขอเล่นไว้เล่นกับน้อง และเด็กคนอื่นๆ 

                   สิ่งที่ห่วงอีกเรื่องกรณีที่ลูกป่วย  เพราะพวกเราไม่มีเงินรักษาพยาบาลหลอก  พวกเรากลัวไปโรงพยาบาลแล้วตำรวจจับ  เพราะคนงานเขาลือกันว่าคนที่ไม่มีบัตรจะต้องถูกจับ  จึงใช้วิธีการขอยาครูเอาไว้ก่อน  ทำอย่างไรก็ได้ที่ไม่ให้ลูกป่วย

          มีอีกหลายคำถาม  ขอไปตอบที่โรงแรมแล้วกัน....


          จึงพากันไปเยี่ยมที่ห้องพักของน้อง เซีย.....เป็นเด็กโต  รูปร่างผอมแห้ง เห็นกระดูกซี่โครงเลย  เป็นเด็กที่ตั้งใจเรียนมาก  มีหน้าที่โทรหาครูว่าจะมาสอนกี่โมงทุกสัปดาห์  เป็นที่พึ่งของเด็ก ๆเวลาที่พ่อแม่ของเด็กทิ้งไว้ในช่วงกลางวัน  จะนำเด็กมาเล่น มาสอนหนังสือบ้าง อ่าน เขียนบ้าง  จึงเป็นที่เกรงใจของเด็กตัวเล็กๆ  ที่สำคัญความรับผิดชอบของน้องเซียคือ ต้องดูแลห้องพัก ทำอาหารให้คนในครอบครัว  ซักเสื้อผ้าของทุกคน กวาด ถู ล้างจาน ชาม  ต้องทำ

          ชีวิตประจำของน้อง ตื่นตีห้า ไปร้านค้าซื้อผัก เนื้อสัตว์ ไก่ หมู ไข่ แล้วแต่ร้านค้าจะมี  เตรียมอาหารเช้าให้ครอบครัว ได้กินก่อน หกโมงเช้า  คนในครอบครัวมีทั้งหมด ห้าคน  ทำงานด้วยกันสี่คน คือ พ่อ แม่ พี่ชาย พี่สาว  พ่อกับแม่มีพาสปอร์ตแล้ว  ตอนนี้กำลังเก็บเงินทำให้พี่สาวก่อน  สำหรับน้องเซียกับพี่ชายยังไม่เอกสารใดๆทั้งสิ้น 

          เมื่อทุกคนในครอบครัวออกจากห้องพักไปแล้วต้องล้านจาน ชาม เก็บที่นอนพิงไว้ที่ข้างฝาห้อง  กวดถูให้สะอาด  แล้วไปซักเสื้อผ้า กว่าจะเสร็จก็เกือบเก้าโมง  อาบน้ำ แต่งตัว เตรียมอาหารกลางวัน  ให้ทุกคน  เพราะพอเที่ยงทุกคนจะเดินกลับมากินอาหารที่ห้อง  ก็คืออาหารที่เหลือจากมื้อเช้า  แต่อาจจะตั้งหม้อข้าวไฟฟ้าเพิ่มไว้  เผื่อแม่จะซื้อก๋วยเตี๋ยวมาเพิ่ม หรือชงมาม่า อีกสองถ้วยกินด้วยห้าคน  ช่วงเวลาบ่ายสามก็เก็บเสื้อผ้าที่ซุก  เตรียมอาหารเย็นต่อ  เมื่อพ่อแม่กลับมาจากงานก็หกโมงเย็น  ทุกคนก็ไปอาบน้ำ ที่อ่างน้ำ  เพราะต้องรีบอาบไม่อย่างนั้นจะดึกมาก  กินข้าว ดูทีวี เข้านอนตั้งแต่สามทุ่ม   พ่อกับแม่จะไม่ให้ออกจากห้องพัก  เพราะกลัวตำรวจจับ


          น้องนักศึกษาเห็นห้องพักของน้องเซีย ที่สะอาด จัดห้องอย่างเป็นระเบียบ พับเสื้อผ้าซ้อนกันแยกเป็นกองๆ  ทุกคนชมน้องเซียว่าเป็นเด็กที่อายุเพียง 12 ปี แต่ทำงานทุกอย่าง 

          น้องเซีย ตอบว่า แม่สอนต้องทำให้เป็น พวกเราเป็นคนจน มาอยู่ในเมืองไทย ต้องขยัน อดทน  ถึงจะมีชีวิตที่รอด  และมีโอกาสชีวิตที่ดี   แม่ยังบอกว่าต้องตั้งใจเรียน เขียนชื่อภาษาไทยให้ได้  อ่านให้ออก  จะได้ไม่ต้องถูกโกงค่าแรง  เดินทางไปที่ต่างๆได้   เก็บเงินไปปลูกบ้านที่กำปงธม   มีแต่ที่ดินแค่ สามสิบตาราวาเท่านั้น  อพยพกันมาเป็นสิบกว่าปีแล้ว

          นักศึกษาทุกคนอึ้ง ในความคิดของน้องเซีย  ที่ต้องสู้กันทั้งครอบครัว  เมื่อพูดคุยเสร็จ น้องเซียวิ่งอย่างรวดเร็วไปเขียนหนังสือต่อ

          เมื่ออกจากห้องของน้องเซีย  จึงพานักศึกษาทุกคนเดินเลาะมาด้านหลังของบ้านพักรรมกรก่อสร้าง  นั่งคุยประเด็น  เรื่องความร้อนกับสังกะสี   งานนี้มีนักศึกษาหนึ่งคนที่พ่อเป็นผู้รับเหมา  ได้สะท้อนในฐานะของคนรับเหมา  ทุกอย่างที่จัดทำให้คนงานก่อสร้างต้องคิดหมด  เพราะมันคือทุนที่ต้องลง  การใช้สังกะสีคือการประหยัดต้นทุน  เน้นกำไรการก่อสร้างไว้ก่อน  ระหว่างที่ก่อสร้างต้องมีการจ่ายเป็นรายสัปดาห์ รายเดือน กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

          เสียงน้องอีกคนเป็นผู้หญิงบอกว่าบ้านเขาเองอยู่ต่างหวัด  แต่การมาดูงานในครั้งนี้ไม่เคยนึกว่าจะมีกลุ่มคนมาอยู่กันเป็นร้อย เป็นพัน มาใช้อ่างน้ำด้วยกัน เข้าคิวเข้าห้องน้ำ  มีโรคสารพัน  อยู่ด้วยกันร้อยพ่อพันแม่   ต้องใช้ความอดทนเป็นอย่างมาก   ฉันกับเพื่อนไปนั่งคุยกับเด็ก ที่ไม่อยู่ในกลุ่มจำนวน 2 คน เป็นเด็กผู้ชาย 1 คน เด็กผู้หญิงด้วย  ไปนั่งหลบตัวอยู่หลังสุ่มไก่  ตรงที่วางโครงเหล็กจำนวนมาก


          น้องยังพูดไทยไม่ชัด เพิ่งมาอยู่เมืองไทย ได้แค่อาทิตย์เดียว  เดิมเด็กสองคนอยู่กับน้าที่ เมืองกัมปงธม  กัมพูชา  ซึ่งกว่าจะเดินมากับน้านานมาก  แล้วน้าก็พามาหาแม่กับพ่อที่ทำงานอยู่ที่นี้  เพราะในหมู่บ้านไม่มีใครอยู่เลย เหมือนหมู่บ้านร้าง  (คำบอกเล่าของพ่อเด็ก)  น้าสาวจึงพาหลานมาเมืองไทย  ดันด้นจนมาถึงแหล่งก่อสร้าง  ครอบครัวเข้าเมืองผิดกฎหมาย(ลักลอบทำงาน)  อยู่ที่กัมพูชาก็อดตาย  ลูกสองคนเข้าเรียนที่กัมพูชา  แต่เมื่อมาเมืองไทยก็ต้องอดเรียน   ต้องการให้ลูกเรียนภาษาไทย อ่าน เขียน พูด ฟัง ได้บ้าง   พ่อกับแม่ก็เรียนได้แค่ ป.4 ของไทย  สำหรับภาษาไทยพูด ฟัง ได้บ้าง เท่านั้น

          เกือบบ่ายโมงแล้วจึงพานักศึกษา และอาจารย์พี่เลี้ยงกลับไปยังโรงแรม  ไปพูดกันต่อที่โรงเรียน  เมื่อนั่งรถออกมา มีนักศึกษาหนุ่มคนหนึ่งว่าทำไมอาคารด้านหน้าติดแอร์ ดูดีมาก  จึงบอกว่าเป็นอาคารสำนักงาน   สำหรับแหล่งก่อสร้างไหน ต้องการประหยัด  จะเป็นการอยู่ร่วมกันแบบนี้ 

          ด้านหน้าอาคารอย่างดี ใช้แผ่นยิปซั่ม  เป็นฝาผนัง  เป็นพื้น ติดแอร์  กลุ่มงานวิศกร  โฟร์แมน  จะเข้า-ออก  ในสำนักงานแห่งนี้

          ต่อด้วยบ้านพักคนงานก่อสร้างที่ปลูกคู่กันจำนวน 12 หลัง  เรียงกัน ระหว่างบ้านพัก มีห้องน้ำ ห้อง กั่นกลางเป็นระยะ

          ต่อด้วยโครงเหล็กเป็นจำนวนมาก ไม้แบบ  วางมากมายก่ายกอง แบบสุ่ม สุ่ม กันอยู่ เด็กเดินเข้าไปรับรองได้กองไม้ทับแน่นอน   ทางเดินกับที่จอดรถไม่มีช่องว่างเลย แออัดยัดเหยียดอย่างมาก  แต่ทุกคนก็ต้องอยู่ด้วยกัน


          เมื่อมาถึงโรงแรมต้องให้นักศึกษาพัก เมื่อพบกันประมาณบ่ายสาม  เริ่มพูดคุยเรื่องแนวทางการศึกษาอีกครั้ง   ครูเน้นย้ำว่าประเทศไทยเรื่องการศึกษาไม่ได้ด้อยกว่าประเทศไหนเลนในอาเซียน และประเทศของเรายังเอื้อเด็กทุกคนที่อยู่ในประเทศไหนให้ได้เรียน    การศึกษาคือการลงทุนชนิดหนึ่ง  เพราะเรียนฟรีแต่เสียตังค์   ถึงอย่างนั้นประเทศไทยไม่ได้บิดกั้นเรื่องการศึกษา เริ่มตั้งแต่เชิงนโยบาย

          (1) ประเทศไทยได้ลงนามเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก เคยมีข้อสงวน ข้อที่ 29  แต่ปัจจุบัน ประเทศไทยได้ยกเลิกข้อสงวนข้อนี้แล้ว และได้ให้เด็กมีการศึกษาที่หลากหลาย  แต่รายละเอียด กฎระเบียบแต่ละเรื่องต้องมีการหาแนวทางออกด้วยกัน  ตั้งแต่การศึกษาทางเลือก เช่น บ้านเรียน(การศึกษาโดยครอบครัวเป็นผู้จัด  ยังมีปัญหาในการจัดทำหลักสูตร การจดทะเบียน  )  ศูนย์การเรียน  เป็นต้น

          (2) พระราชบัญญัติการศึกษา แห่งชาติ พ.ศ. 2542 แก้ไข พ.ศ. 2551, พระราชบัญญัติการตามอัธยาศัยและการศึกษานอกระบบ พ.ศ. 2551  เด็กมีสิทธิที่จะเรียนทั้งในระบบการศึกษา  และนอกระบบการศึกษา  ทุกอย่างขึ้นกับการบังคับใช้   แต่เปิดโอกาส  เหลือแต่การค้นหาเด็กเชิงรุกที่เด็กออกกลางคัน  และกลุ่มเด็กที่เข้าไม่ถึงการศึกษา

          (3) คู่มือและแนวปฏิบัติ สำหรับการจัดการศึกษาแก่บุคคลที่ไม่มีหลักฐานทะเบียนราษฎร หรือไม่มีสัญชาติไทย  ตามมติ ครม. ปี 2535  และมาแก้ไข ปี พ.ศ. 2548  ซึ่งให้เด็กที่ไม่เอกสารใด เข้าเรียนได้ตั้งระดับอนุบาล จนถึงระดับอุดมศึกษา  หรือตามความสามารถของ   เมื่อปีที่แล้วทางกระทรวงศึกษาธิการ  ได้มีการจัดทำคู่มือและแนวปฏิบัติ สำหรับการจัดการศึกษาแก่บุคคลที่ไม่มีหลักฐานทะเบียนราษฎรหรือไม่มีสัญชาติไทย (ฉบับปรับปรุงใหม่ พ.ศ. 2560)

          สิ่งเหล่านี้คือนโยบายที่ทางประเทศไทยให้การศึกษาแก่เด็กทุกคน  ในฐานะที่ครูเป็นคนปฏิบัติงานในภาคสนามสิ่งที่ครูพบ คือ แนวนโยบายเหล่านี้เป็นสิ่งที่ดีและต้องปฏิบัติ แต่สิ่งหนึ่งที่เราพบ  เด็กต่างด้าว  เด็กเหล่านี้พูดภาษาไทยไม่ได้  แล้วจะเรียนในโรงเรียนหรือสื่อสารได้อย่างไร   เด็กคนไหนที่ต้องการเรียน ก็ต้องหัดอ่าน หัดเขียนให้ได้ก่อน

          สำหรับเด็กลูกกรรมกรก่อสร้าง ส่วนหนึ่งคือการเข้าถึงทางการศึกษา  ในฐานะที่ทางมูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก ทำงาน  ทางมูลนิธิฯ  ได้ดำเนินการคือ

          -มีโครงการศูนย์เด็กก่อสร้าง  ได้ดำเนินการช่วยเหลือเด็กที่เข้ามาเรียน มาเสริมทักษะการอ่าน เขียน  ทักษะชีวิต  ปีละจำนวน 200-250 คน ต่อปี ปัจจุบันมีศูนย์เด็กก่อสร้างอยู่ 1 แห่งที่ครูนอนประจำที่ศูนย์เด็กก่อสร้าง ทำงานทั้งการสอนเด็ก และงานชุมชน

          -มีโรงเรียนเด็กก่อสร้างเคลื่อนด้วยรถ  วิ่งตามบ้านพักคนก่อสร้างจำนวน 8 พื้นที่  เป็นพื้นที่ขนาดเล็ก  เด็กที่เข้ามารับบริการกว่า 400 คนต่อปี  ทั้งเด็กไทยและเด็กต่างด้าว มีการเคลื่อนย้ายงานกันตลอด

          สำหรับเด็กลูกกรรมกรก่อสร้างที่เข้าเรียนระบบ เรียนที่ใกล้บ้านพัก เช่นโรงเรียนเปรมประชา  โรงเรียนทุ่งสองห้อง  โรงเรียนประชาอุทิศ เป็นต้น 

          มีเด็กบางคนที่ทางโครงการฯ ได้ส่งต่อมายังบ้านของมูลนิธิสร้างสรรค์เด็กเอง หรือบางคนก็ส่งต่อโรงเรียนศึกษาสงเคราะห์และโรงเรียนราชประชานุเคราะห์

          สิ่งเหล่านี้ น้องนักศึกษานำไปบอกเล่าในเวทีการโต้วาทีได้เลย  ว่าการศึกษาเป็นของเด็กทุกคน  และประเทศไทยก็ให้การศึกษา เพื่อต้องการเห็น "เด็กและเยาวชนเป็นพลเมืองอาเซียนอย่างมีคุณภาพ"