banner
ศุกร์ ที่ 1 เดือน มิถุนายน พ.ศ.2561 แก้ไข admin

ห้องเรียน..ข้างถนน นิเทศศาสตร์ (ตอนที่ 4)



 
นางสาวทองพูล  บัวศรี

ผู้จัดการโครงการครูข้างถนน  มูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก

 

          ได้มีน้องนักศึกษาจำนวน 3 คน ติดต่อมาทำโครงการศึกษากระบวนการผลิตสารคดีวีดีทัศน์ เรื่อง “ครูข้างถนน”   ของ นักศึกษา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล กรุงเทพ   ใช้ระยะเวลาตั้งแต่เดือนมกราคม จน ถึง กันยายน 2561 ที่ต้องนำเสนอผลงาน   แต่งานต้องออกในเดือนมิถุนายน  เพื่อจะต้อง

(1)นำเสนอให้อาจารย์ที่ปรึกษา และคนต้นเรื่อง คือครูข้างถนน ครั้งที่ 1

(2)ในเดือนมิถุนายนจนถึง สิงหาคม  ปรับปรุงสิ่งที่อาจารย์ที่ปรึกษา และคนต้นเรื่องแนะนำไป

ดำเนินการตัดตอน  ในเนื้อหาเหลือไม่เกิน 13-15 นาทีเท่านั้น  ต้องอาศัยห้องตัดตอนการลงเสียง  การใช้เทคนิคกราฟซิคเข้ามา การใช้เพลงประกอบ 

          (3)ต้องได้วีดีทัศน์ พร้อมการนำเสนอ ให้กลุ่มตัวอย่างทั้งนักศึกษา  นักข่าว นักวิชาการ พร้อมคนต้นเรื่อง  ประเมิน จำนวนอย่างน้อย 30-50  คน

          (4)เสร็จกระบวนการ นำเสนออาจารย์และส่งให้คนต้นเรื่อง “ครูข้างถนน”  นำไปใช้และเผยแพร่ได้


          เมื่อทางครูพิจารณาแล้ว  ครั้งแรกต้องจัดกระบวนการเรียนรู้ตลอดเวลากว่า 9 เดือน  คือตลอดวิชานี้เด็กสามคนต้องมาเป็นลูกศิษย์ที่ติดตามครูไปทุกแห่งในเวลาที่ลงพื้น  คิดเยอะมาก  และสำหรับครูเองก็อยากวีดีโอที่เต็มรูปแบบเผยแพร่การงานของ “ครูข้างถนน” แบบทุกมุม  ซึ่งยังไม่มีสื่อมวลชนไหนทำให้  และเมื่อต้องใช้กับนักศึกษา อาสาสมัครของครู  จะช่วยในการทำงานได้ง่ายขึ้น    ครูจึงตกลงกับน้องนักศึกษาว่า ต้องเปิดเป็นห้องเรียน ข้างถนน เกี่ยวกับงานนิเทศศาสตร์กันเลย  แต่ต้องลงพื้นที่ด้วยกันทุกสัปดาห์   มาคุยและว่างตารางการทำงานด้วยกัน   อย่ามาทำสคริปก่อน ให้เห็นงานก่อนแล้วค่อยไปเขียนสคริป  แล้วต้องเปลี่ยนแปลงตามสถานการณ์

          จึงต้องมาคุยและวางแผนในการทำงานด้วยกันตลอด จึงต้องมีกำหนดเวลาอย่างชัดเจนในการทำงาน เพราะครูไม่ได้มีนักศึกษากลุ่มเดียว

          ครั้งที่ 1  ช่วงในปลายเดือนมกราคม 2561  โทรคุยประเด็น เป้าหมายของการทำสารคดีเรื่อง “ครูข้างถนน “  ให้เขียนโครงการมานำเสนอ  และบอกเน้นขั้นตอนว่าจะทำอะไร  ควรต้องผ่านอาจารย์ที่ปรึกษา ของมหาวิทยาลัยมาก่อน

          ครั้งที่ 2  นักศึกษาทั้งสามคน ลงมาพูดคุยกับคนต้นเรื่องเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2561  โดยนำโครงการและจดหมายขออนุญาตของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล กรุงเทพ มาให้ครู  และได้พูดคุยกับนักศึกษาถึงความเป็นมา ที่มาเลือกโครงการครูข้างถนน  และรู้จักเด็กเร่ร่อนแค่ไหน  พร้อมกลุ่มเป้าหมายที่จะลงไปพบเจอที่ถนน  นักศึกษาศึกษาข้อมูลและรายละเอียดมาเป็นอย่างดี  ได้อ่านงานเขียนของครูในเว็บไซด์  พื้นฐานของนักศึกษามีความชัดเจน

                   ครูได้แลกเปลี่ยนในเรื่องการทำสารคดี  ว่างานของครูข้างถนน มีหลายด้าน หลายแผนงาน  หรือจะเป็นทั่วไปก็ได้ แต่เสนอประเด็นแล้วก็แค่การรู้จักคนทำงานเท่านั้น  ทางเป็นสื่อมวลชนที่ให้เวลาเพียง 3-5 นาทีเสนอแบบนี้ได้  

                   สำหรับสิ่งที่ครูอยากให้เสนอ คือ  “บทบาทของครูข้างถนน กับการศึกษาเด็ก”  ครูต้องการที่นักศึกษาทำให้กับโครงการครูข้างถนน ได้นำไปใช้ประโยชน์   เพราะครูต้องการ  การยืนยันว่าถ้าเด็กได้รับการศึกษา คือการสร้างที่ยืนให้เด็ก  และเด็กเหล่ายุติการเร่ร่อนถาวร  เป็นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์อย่างยั่งยืน ได้   แต่ต้องใช้เวลาที่ต้องลงกับครูมาก    

                   นักศึกษาทั้งสามคนนำข้อมูลและความต้องการของคนต้นเรื่องกลับไปคุยกับอาจารย์ที่ปรึกษา  พร้อมทั้งตัวอย่างในงานเรื่องเล่า สามเรื่อง  ตั้งแต่ เรื่อง ขอพื้นที่ให้เด็กเร่ร่อนต่างด้าวได้มีที่ยืน เรื่อง กระเป๋าสองใบ..สู่งานวิจัย   เรื่องแม่และเด็กเร่ร่อนต่างด้าว...ในกรุงเทพมหานคร  เรื่องหนูอยากเรียน   ทุกเรื่องคือการถอดการทำงานของครูข้างถนน

                   นักศึกษามาเล่าให้ฟังว่า อาจารย์ที่ปรึกษาชอบมาก  เพราะมีเหตุผลทุกประการ  คนต้นเรื่องให้ข้อคิดเห็นที่เป็นประโยชน์อย่างมาก  สิ่งที่เหลือคือการลงมือทำ  เรียนรู้ของจริง




          ครั้งที่ 3  นัดกันลงพื้นที่ เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2561 นัดพบกันที่สถานีรถไฟฟ้าเพลินจิต  โดยครูคุยรายละเอียดในการเตรียมเอกสาร และขอดูเอกสารเกี่ยวกับน้องปอ ทั้งหมด ตั้งแต่ใบเกิด สำเนาทะเบียนบ้าน  บัตรประชาชนพ่อ บัตรประชาชนแม่   สิ่งเหล่านี้ต้องเตรียม

                   ลงไปพบแม่ของน้องรจนา ที่เป็นชาวกัมพูชา ให้เตรียมเอกสารของลูก เป็นใบรับรองการเกิด(เป็นสิ่งที่พูดไว้)  แต่สิ่งที่เจอกันจริง คือไม่มีเอกสารใด ใด ทั้งสิ้น

                   กลางคืนลงพื้นที่ต่อ พากันเดินจากสุขุมวิท  ข้างไปเดินเส้นทางสุขุมวิท ที่เป็นเลขคู่ ตั้งแต่ซอย 2 จนถึงซอย 18   กินอาหารเย็นด้วยกันพูดคุยเนื้อหา และทัศนคติในการมองคนพบถนน  เพราะตอนเดินจะพบกลุ่มคนไร้บ้าน พิการและป่วยเป็นส่วนใหญ่ ส่วนมากเป็นผู้สูงอายุ

                   เวลาประมาณหนึ่งทุ่มครึ่ง การพากันเดินจากอโศก  แค่ได้เดินประมาณสามนาที  ครูจิ๋วก็พบกรณีศึกษาที่อยากพบมานาน เพราะไม่ได้เจอกันประมาณกว่า 6 เดือน เลยนั่งคุยกันยาว  เพราะยายของเด็กเกิดป่วยกะทันหัน สำหรับกรณีนี้ไม่ให้นักศึกษาถ่ายทำหรือมาฟังการพูดคุย ให้พวกเขาไปเดินสำรวจอีกฝั่งหนึ่งเพราะตาครูไปเห็นแม่และเด็กเร่ร่อนมาขอทาน และกรณีที่มาจากชุมชนเปรมฤทัย  บอกว่ามากับครูจิ๋ว เขาจะได้ไม่กลัว  ใช้เวลาไปกว่าสองชั่วโมง  เมื่อเสร็จก็เดินต่อกันทันที พบกลุ่มแม่และเด็กอีกสามครอบครัว  คืนนี้พบกลุ่มแม่และเด็กที่มาจากชุมชนโค้งรถไฟยมราชหลายครอบครัวแต่ไม่ให้นักศึกษาถ่ายแค่ให้ภาพเท่านั้นและสถานการณ์แต่จะมีบ้างให้แล้วแต่จังหวะ  ประมาณสี่ทุ่มจึงแยกย้ายกันกลับ

          ครั้งที่ 4 นัดกันที่มูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก  ได้นำเค้าโครง และโครงเรื่องทั้งหมดที่ได้รับอนุมัติจากอาจารย์แล้ว โดยเนื้อหา เน้นไปที่ “บทบาทของครูข้างถนน กับการศึกษาเด็ก”  เมื่อประเด็นชัดผ่านทุกฝ่ายเรียบร้อยแล้วจึงให้นักศึกษายกร่าง “สารคดี”  ให้ทันทีเพื่อครูช่วยประเด็นให้ชัดขึ้น  แต่การถ่ายทำครูมีแต่สภาพความเป็นจริงเท่านั้น  จึงนัดกันลงพื้นที่ต่อทันที

          ครั้งที่ 5   นัดกันตั้งแต่เก้าโมงเช้า  ครูจิ๋วได้นัดกับพ่อของน้องปอ แม่น้องรจนา  ไปสมัครเรียนที่โรงเรียนวัดดิสหงสาราม(มักกะสัน)  ตั้งแต่ครูไปขอพบผู้อำนวยการโรงเรียนที่ห้องธุรการ  ซึ่งท่านผู้อำนวยการอยู่พอดี  จึงให้คุณครูณิชารัตน  มารับใบสมัคร  ครูกรอกเอกสารในใบสมัครในฐานะเป็นผู้ปกครองน้องปอ กับน้องรจนา  เป็นการสมัครเรียนที่ง่าย เพราะด้วยนักเรียนยังไม่เต็ม   สำหรับน้องรจนา ต้องไปหาเอกสารเพิ่มเติมคือใบเกิด  (สำหรับครูเอกสารที่มีเปื่อยหมด)จะไปเริ่มที่ไหนก็ยังไม่รู้เลย   ต้องใช้เวลาแน่นอน  แต่เด็กได้เรียนแล้ว  น้องนักศึกษาได้แต่ภาพที่ประทับใจในการบริการของคณะครู

ครูเองก็ดีใจที่เด็กได้เรียนหนังสือ


          หลังจากนั้นก็โทรหาครอบครัวของน้องนิล  ที่ต้องการเรียนหนังสือ  ที่โรงเรียนปลูกจิต  สังกัดกรุงเทพมหานคร  แต่แม่ของเด็กออกมาขายพ่วงมาลัยที่สยามแล้ว    จึงเดินจากสุขุมวิทมาที่พื้นที่สยามมาพบแม่และนัดแนะกันว่า  วันที่ 15 พฤษภาคม 2561  

          ในวันนี้ตอนเย็นครูต้องพานักศึกษาลงพื้นที่ซอยคาวบอย  ครูขอยกเลิกก่อนเพราะครูต้องกลับมาที่มูลนิธิฯทำเอกสารและรายชื่อของเด็กเพื่อจะขอเบิกงบประมาณค่าใช้จ่ายของเด็กในการซื้อเสื้อผ้า

          ครั้งที่ 6  มีนัดกับน้องนักศึกษา ในวันที่ 14 พฤษภาคม 2561  นัดกันเวลา สิบโมงที่ชุมชนโค้งรถไฟยมราช   น้องมาแต่เช้าก็ได้ภาพที่เด็ก เด็ก ในชุมชนกำลังขายดอกจำปี ดอกจำปา ดอกมะลิ  ที่แยกยมราช   ครูไปถึงก็รีบขนของ กระเป๋า รองเท้า   เน้นกลุ่มเด็กที่เป็นเป้าหมายของครูโดยตรง  คือเด็กจำนวน 42 คน จาก 11 ครอบครัวหลัก  กลุ่มนี้เป็นกลุ่มเด็กต้องทำงาน ส่วนหนึ่งขายดอกไม้   และมีอีกจำนวนหนึ่งในช่วงกลางคืนเด็กจะออกไปขอเงินที่ซอยนานา (สุขุมวิท)

                   เมื่อน้องนักศึกษามาพบกับครู  ครูก็อยู่ในห้องบ้านของยายเตี้ย  ซึ่งกำลังคุยและจัดการหาข้าวของอุปกรณ์ให้หลาน หลาน ยายเตี้ยก่อนกว่า 10 คน พร้อมกับลูกหลานของเจ้ากระถิ่น อีก 2 คน  จึงต้องขอแรงยายเตี้ย ไปตามกรณีศึกษาที่มีรายชื่อ เพราะครูลงพื้นที่ซอยนานา และชุมชน จึงจัดการเรื่องรายชื่อที่เป็นต้องช่วยเหลือ

                   กรณีศึกษาของครูก็ทยอยมา  และเด็กบางคนก็เริ่มเอาอุปกรณ์การเรียนไปเก็บไว้ที่บ้าน  ชาวบ้านเห็นจึงพาลูกหลานกันมากเยอะมากเข้าแถว  แต่สิ่งหนึ่งที่เห็นคือกรณีศึกษาของครูได้อุปกรณ์แล้ว  ที่เหลือจึงต้องบอกว่า ครูสู้กันเท่าที่มีให้เห็น บางคนใส่รองเท้าได้ก็เอาไป  มีอุปกรณ์การเรียนก็เอาไป กระเป๋าเก่า รองเท้าเก๋า    จึงทำให้การทำงานราบรื่นไปด้วยดี


                   วันนี้น้องทั้งสามคนมีประเด็นที่อยากคุย  แต่ครูไม่ต้องคุยต่อหน้ากรณีศึกษาของครู จึงตอบเพียงสั้น สั้น  แล้วบอกว่าควรต้องไปเก็บภาพในขณะที่เด็กกำลังทำงาน  สัมภาษณ์เด็กที่ได้รับอุปกรณ์การเรียน  เพื่อลดค่าใช้จ่ายของผู้ปกครองให้มากที่สุด

                   แต่ละกรณีศึกษาที่ช่วย ส่วนมากเหลือเพียงคนเดียวที่เลี้ยงลูก  ให้ข้อคิดนักศึกษาต่อว่าครูคนเดียว ใช้ค่าใช้จ่ายต่อวันอาหารสามมื้อ ค่าน้ำ เกือบสองร้อยบาททุกวัน  แล้วกรณีเหล่านี้แม่หาคนเดียวได้ประมาณสามร้อยบาทกินกัน 9 คน  แล้วจะพอหรือ...ถ้าหากหน่วยงานต่างๆมาช่วยกันประคับประคอง  เด็กและแม่ก็อยู่ด้วยกันได้  ดีกว่าแยกแม่แยกลูก   คือการตัดขาดความสัมพันธ์ในครอบครัวเลยนะ

                   นักศึกษาถามต่อว่า ครูมาพบชุมชนนี้ได้อย่างไร  ครูจึงตอบว่า  มีเรื่องขอความช่วยเหลือมา  คุณหมอท่านหนึ่งมาเจอเด็ก เด็ก ขายดอกจำปี  ท่านไม่สบายใจ  และต้องการให้ความช่วยเหลือ  แต่ต้องการข้อมูลจากครู   ครูมอบครูอีกท่านหนึ่งลงภาคสนาม  เขาเจอครอบครัวเดียว หรือครอบครัวยายเตี้ย ตอนนั้นดูแลหลานสองคนคือ ปืน กับแมค พ่อแม่ติดคุกทั้งคู่

                   ครูเลยต้องลงเองใช้เวลากว่าสามเดือนสลับกันมากลางวัน กลางคืน  ใช้กล้องส่งถ่ายรูปเด็กระยะไกล  มีเด็กที่ขายของที่แยกยมราชแห่งนี้กว่า 30 กว่าคน  แต่ครูไม่รู้จักเด็กเลย   กรรมการชุมชนก็บอกว่าไม่มี

                   ครูจึงเอานี้ไปคุยงานกับท่านอธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน  ตั้งคณะทำงานขึ้นมาแบ่งงานกันทุก พร้อมกับบ้านพักเด็กและครอบครัว 5 แห่ง   แล้วครูก็เอารูปที่ถ่ายขึ้นโชว์ที่ละรูปให้คณะกรรมการบอกรายชื่อว่าเป็นลูกหลานของใคร   บังเอิญมีนักศึกษางานของหัวเฉียวมาฝึกงานที่บ้านมิตรไม่ตรี  พี่ตาเลยมอบหมายงานต่อในการไปตามพร้อมทำรายละเอียดประวัติครอบครัวมาก่อน




                   การทำงานของครูไม่ได้ทำงานคนเดียว แต่ครูต้องเป็นคนที่มีข้อมูล เริ่มตั้งแต่ใช้คนเก็บข้อมูลไม่ได้  ครูก็ต้องแบ่งเวลาลงพื้นที่กลางคืนและช่วงเสาร์-อาทิตย์ วางแผนการลงทำความสัมพันธ์กับครอบครัวที่เด็กขายดอกจำปี ดอกจำปา ดอกมะลิ  แล้วครูก็นำข้อมูลพบกับนักสังคมสงเคราะห์ที่เคยลงพื้นที่ตั้งแต่ ปี 2548-2549   แล้วก็ไม่ได้สนับสนุนต่อ  มันขาดช่วง เด็กที่เป็นรุ่นแม่ของเด็กเหล่านี้มันจึงหลุด เรียนกันได้แค่ ป.2 จนถึง ม.2  แต่ตอนนี้เด็กเหล่านี้คือแม่คน  แม่ของเด็กที่ขายดอกไม้  จึงรู้ว่ามีทั้งหมด 11  ครอบครัว เด็กกว่า 27 คน

                   แต่ครูเองก็ลงพื้นที่ ซอยนานา (สุขุมวิท 3) พบว่ามีเด็กจากชุมชนโค้งรถไฟยมราชอีกจำนวนกว่า 20 กว่าคน จากอีก 16 ครอบครัว ที่ลูก ลูกมาขอเงินของนักท่องเที่ยว 

                   กระบวนการทำงานของครู คือการเรียนรู้ร่วมกัน  ใช้เวลา 3 ปี กว่าจะได้ความร่วมมือจากครอบครัวของเด็ก ต้องใช้ความจริงใจ เสมอภาพกัน เคารพในตัวตนของกรณีศึกษา  และให้กลุ่มเด็กที่ต้องการความช่วยเหลือ และครูก็อยากรักษาเด็กกลุ่มนี้ให้เข้าเรียน เรียนหนังสือในระบบให้นานที่สุด 

                   น้องนักศึกษาเอง บอกว่าครูทำงานหนักมากนะ  ครูต้องการทำงานอย่างเป็นระบบด้วย  และต้องการให้เด็กเหล่านี้พึ่งตัวเองให้ได้ในอนาคต


          ครั้งที่ 7  น้องนักศึกษา และครูนัดกันที่ชุมชนบ่อนไก่  ครูเองไปสายเพราะมีเรื่องต้องประสานงานโดยด่วน เพราะมีกรณีศึกษาที่ต้องจัดการส่งเข้าสถานแรกรับบ้านภูมิเวทอีกครั้งหนึ่ง

          เมื่อมาถึงจึงโทรประสานงานกับกรณีศึกษาพร้อมแม่ของเด็ก ครูเองก็หอบหิ้วกระเป๋าเรียนมาทั้งหมด 5 ใบ หวังเอาไว้ให้เด็กใส่ไปเรียนหนังสือ น้องนักศึกษามาช่วยหิ้วทันที  กรณีศึกษาเป็นน้องนุช อายุ 10 ปี กับน้องนาด อายุ 6 ปี  ไม่มีเอกสารใบเกิด มีแต่ชื่ออยู่ในสำเนาทะเบียนบ้าน  เดินเข้ามาโรงเรียนปลูกจิต แบบหน้าชื่นตาบานอย่างมาก  สำหรับครูมันคือความหวังเพราะเป็นโรงเรียนที่สังกัดกรุงเทพมหานคร  เพราะเด็กที่เข้าเรียนแล้วงบประมาณการดูแลดีมาก เรียนฟรีที่ค่อนข้างเป็นจริงในระดับหนึ่ง   และเด็กเองก็เดินมาโรงเรียนได้คะ

          มาถึงโรงเรียนคณะครูกำลังประชุมกันอยู่ จึงไปติดต่อกับฝ่ายธุรการขอโรงเรียน  ว่าพาเด็กสมัครเรียน  เธอออกมาจากห้องแอร์ที่เย็นเฉียบ  เพราะด้านนอกห้องธุรการร้อนมาก  คณะของพวกเรามีนักศึกษาสองคน  น้องนุช น้องนาด แม่ และครู  ทั้งหมด 6 คน หาที่นั่งรอ   เธอเดินมาขอดูเอกสารว่าเด็กมีอะไรบ้าง 

          ครูบอกว่ามีเพียงแค่ชื่อเด็กในทะเบียนบ้าน  เธอหันมาพูดต่อว่าไม่มีเอกสาร ไม่มีพาสปอร์ของพ่อแม่  ไม่รับ  ครูก็ใจเย็นมากว่า มีระเบียบว่าด้วย "คู่มือและแนวปฏิบัติสำหรับการจัดการศึกษาแก่บุคคลที่ไม่มีหลักฐานทะเบียนราษฎรหรือไม่มีสัญชาติไทย " ทางโรงเรียนไม่สนใจ ถ้าไม่มีเอกสารก็ไม่รับ

          สำหรับเด็กชื่อนุช  อายุ 10 ปี ไม่เคยเรียนผ่านอนุบาลมาเลย  อายุเกณฑ์ไปเรียนผ่านอนุบาลมาก่อน   สำหรับเด็กชายนาดอยู่ในช่วงอายุเข้าอนุบาลได้ แต่ไม่ยอมพูดภาษาไทย  ครูอนุบาลของโรงเรียนต้องดูแล 30 คนขึ้นไป จะมาสอนแต่เด็กไม่ไม่ยอมพูดภาษาไทยไม่ได้หรอก  โรงเรียนไม่รับ ไปเรียนมาก่อน


          โรงเรียนปลูกจิตเคยถูกสำนักงานตรวจเงินแผ่นเข้ามาตรวจแล้วมาเจอว่าเด็กไม่มีเอกสารใด  โรงเรียนรับได้อย่างไร  เด็กทุกคนต้องมีเอกสาร   ไม่ใช่โรงเรียนไม่รู้ระเบียบ รู้ระเบียบ แต่จะเรียนที่ปลูกจิตได้ต้องมีเอกสาร

          ครูเดินคอตก  คุยกับแม่เด็กและเด็กว่าเราต้องไปเริ่มต้นเรียนหัดอ่าน หัดเรียนให้คล่อง  ไปสมัครเรียนที่ศูนย์เด็กเล็กชุมชนบ่อนไก่ใต้แฟลคก่อนแล้วกัน  เมื่อไปถึงจึงได้แต่นั่งปรับทุกข์  เรื่องความเยอะของโรงเรียนปลูกจิต  เด็กที่อยู่บริเวณบ่อนไก่ ทุกคนก็อยากเข้าเรียนที่นี้เพราะใกล้บ้าน ไม่ต้องเดินทางไปไกล  ถ้าไปโรงเรียนอื่นพ่อแม่ก็ไม่สะดวกเพราะต้องทำงานหากินกันแต่เช้า  ไม่มีเวลาไปส่งลูก  เด็กหลายคนจึงได้แต่วิ่งเล่น  ไม่ได้เรียน  ครูจึงเอาเด็กทั้งสองคนมาฝากไว้ที่ศูนย์เด็กเล็กบ่อนไก่  มีเด็กชาวกัมพูชาเรียนอยู่แล้ว  7 คน เพิ่มไปอีก 2 คน รวมเป็น 9 คน  แต่ฝากเน้นไปที่น้องนุช ต้องอ่านและเขียนให้ได้  ปีการศึกษาหน้าต้องสู้กันใหม่

          นักศึกษาสามคนได้แต่มองหน้าครู   ครูจึงบอกว่าอยากให้เห็นข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นกับเด็กที่ไม่มีโอกาสเข้าเรียน แม้จะมีอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก  มีพระราชบัญญัติการศึกษา พ.ศ. 2542 แก้ไขปี 2550  แม้จะมีมติ ครม.ปี 35 แก้ไข ปี 2548

          ครูจึงบอกนักศึกษาว่า แยกกันตรงนี้นะ ครูมีงานที่ต้องลงพื้นที่  แต่อยากให้น้องกลับไปก่อน  ขอทำใจอย่างเงียบ เงียบ  หาแนวทางการแก้ไขปัญหาไปแล้วส่วนหนึ่ง

          ครั้งที่ 8  โรงเรียนวัดมหาวงษ์  ในวันที่ 17 พฤษภาคม 2561  เป็นวันที่ครูจิ๋วกับครูมุ้ยนัด ผู้ปกครองเด็กเข้าใหม่จำนวน 7 คน มาพบผู้อำนวยการโรงเรียน และเตรียมค่าใช้จ่ายสำหรับเด็ก 34 คน  พร้อมกับการสอบความพร้อมของเด็ก 7 คน  อยู่อนุบาล 1 กับอนุบาล 2 จำนวน 5 คน อีก 2 คน ไปอยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1

                   งานนี้นักศึกษาสามคน บวกเพื่อนอีกสองคนงงมาก  ที่โรงเรียนต้อนรับครูเป็นอย่างมาก  ให้เด็กเตรียมตัว ผู้ปกครองเด็กเองก็ดีใจ  คนละเรื่องกับโรงเรียนปลูกจิต 

                   ครูจิ๋วจึงบอกว่าลองสัมภาษณ์แนวคิดของครูในการรับเด็ก  คณะครูให้โอกาสกับเด็ก เพราะว่า นักเรียนทุกคนคือนักเรียนที่ครูอยากให้เรียนมีความรู้ติดต่อ  เรื่องเอกสารทางโรงเรียนทำเรื่องอักษร "G" ของเด็กมากกว่า 6 ปีแล้ว  เด็กทุกคนที่เข้าเรียนได้อักษร G หมด  เรื่องเงินค่าหัวของเด็กได้สิทธิตามเด็กไทยทุกประการ


                   นักศึกษาจึงถามครูว่า วันนี้ครูไปที่ไหนอีก จึงบอกว่าอีกสอง-สามโรงเรียน  ไม่ต้องตามครูแล้วนะ  เพราะครูไม่ได้ขออนุญาตโรงเรียนไว้   นักศึกษาขอสัมภาษณ์หน่อยได้ไหม  ครูจึงบอกว่า  ให้มาสัมภาษณ์ครั้งเดียวดีกว่า  กว่าครูจะเสร็จ รอใบเสร็จของเด็กทุกคนก็บ่ายสามโมงเย็น

                   การประสานงานพาเด็กเข้าเรียนไม่มีอะไรที่ง่ายหรอก  ต้องใช้เวลา ใช้ความจริงใจ  กับคณะครู และผู้ปกครอง  ทำต่อเนื่องกับเด็กและครอบครัว ทำให้เด็กอยากเรียนหนังสือ การเรียนคือการสร้างโอกาสให้ตัวเด็กเอง   ทำให้แม่หยุดเอาลูกออกไปขอเงิน เพราะโรงเรียนรู้ ทางโรงเรียนจะให้เด็กออกจากโรงเรียน  ทำให้เด็กไม่ออกไปกับแม่    สิ่งเหล่านี้ต้องใช้ใจกับใจ กับเด็กทุกคน

          ครั้งที่ 9   ลงไปสัมภาษณ์แม่ของน้องนุช  ที่ชุมชนบ่อนไก่ เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2561  ครูไปแต่เช้าเพราะวันนั้นครูมีงานต่อเนื่อง คือการลงกรณีศึกษาที่มีเรื่องร้องเรียนว่ามีเด็กเร่ร่อนไปนอนที่ตู้โทรศัพท์ สุขุมวิท 31   และต้องต่อด้วยลงพื้นที่ชุมชนโค้งรถไฟยมราช

                   ครูจิ๋ว  แม่เด็กตอบคำถามสั้น สั้น  ได้ได้ประโยคทองว่า  "แม่เองไม่เคยอ่าน ออก เขียน ได้เลย  ไม่ต้องการให้ลูกเป็นอย่างนี้ "  ฉันเลยต้องการให้ลูกอ่าน ออก เขียน ได้ ในภาษาไทย  ถ้าในอนาคตเขาอยากอยู่ประเทศไทยอย่างถูกต้องตามกฎหมาย  ขอบคุณครูที่ช่วยฉันทุกเรื่อง  ตั้งแต่ลูกคนโตมาจนถึงตัวเล็ก

          ครั้งที่ 10 นัดสัมภาษณ์ อย่างเป็นเรื่องเป็นราว  เพื่อการตัดต่อให้เหลือเพียง 10-13 นาที เท่านั้น โดยได้เขียนคำถามมาให้ครูแล้ว สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2561  มีการเลื่อนนัดสำหรับอาทิตย์สามครั้งด้วยกัน  น้องมาตั้งกล้องตั้งแต่ตอนเที่ยง กว่าจะได้ถ่ายทำก็บ่ายกว่าจะเสร็จก็บ่ายสาม  จึงบอกน้องนักศึกษาว่าครูมีงานลงพื้นที่ต่อนะ

ตัวอย่างคำถามการสัมภาษณ์

คำถาม

อธิบาย

1แนะนำตัว

เป็นใครมาจากไหน

2.ทำงานอะไร

 

3.หน้าที่ในการทำงานเป็นอย่างไร

อธิบายถึงหน้าที่ในทั้งมูลนิธิและการเดินข้างถนน

4.ทำไมถึงตัดสินใจทำงานนี้

เล่าถึงประเด็นหลัก/ช่วงเวลาที่ตัดสินใจทำอย่างจริงจัง

5.การเติบโตตั้งแต่วัยเด็กเป็นอย่างไร

เล่าถึงตอนเด็กที่ทำให้ส่งผลมาเป็นครูข้างถนน

6.อะไร/ใคร เป็นแรงบันดาลใจที่สำคัญที่สุด

 

7.การทำงานลำบากไหม?

เล่าถึงประสบการณ์/ความรู้สึกจริง

8.เคยรู้สึกท้อไหม?

เล่าถึงประสบการณ์/ความรู้สึกจริง

9.ทำไมยังสู้ ทำงาน

เล่าถึงประสบการณ์/ความรู้สึกจริง

 

10.คิดอย่างไรกับการที่ทุกคนเรียกว่า ครุข้างถนน

 

11.สำหรับตัวเองแล้วครูข้างถนน คืออะไร

 

 

          เป็นคำถามที่เตรียมมาดีมาก  แต่บางคำถามครูจะตอบแบบรวดเดียวกัน  แล้วให้น้องเป็นตัดต่อเอาเอง   ถือว่าเป็นการเรียนรู้ในการทำงานร่วมกันระหว่างนักศึกษากับครูข้างถนน  อย่างต่อเนื่องและยาวนานสำหรับการทำสารคดี สารนิพนธ์จบหนึ่งเรื่อง

          ครูจิ๋วถือว่าการเปิดห้องเรียน...ครูข้างถนน แบบนักศึกษานิเทศศาสตร์  ต้องเรียนรู้เนื้อหาที่จะต้องสื่อสาร   แต่สำคัญสำหรับครูจิ๋ว คือความเข้าใจเนื้อหาของครูข้างถนน  วิธีการทำงานอย่างมีเป้าหมาย  ที่ทั้งครูภาคสนามกับนักศึกษากำหนดด้วยกัน   ระหว่างทางคือการเรียนรู้ด้วยกัน  ในงานเนื้อหา มีทั้งการปรับและการเพิ่มเนื้อหา อย่างชัดเจน

          การเห็นของจริง ความเป็นจริง  งานครูข้างถนนคือของจริง ชีวิตจริงของเด็ก และครอบครัว  ไม่มีการจัดฉาก 

          การทำงานร่วมกันครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้าย  ต่อไปคือครูจะรอผลงานของน้องนักศึกษา  ฝีมือของงานตัดต่อ 

          ขอบคุณซึ่งกันและกัน   ต่อไปจะได้นักข่าวสารคดีที่เข้าใจชีวิตคนเพิ่ม  เป็นนักสื่อสารมวลชนอย่างมีคุณธรรม จริยธรรม  และไม่ละเมิดผู้ใด  เข้าสภาพสังคมมากขึ้น