banner
อังคาร ที่ 15 เดือน กันยายน พ.ศ.2558 แก้ไข admin

เด็กเร่ร่อนต่างด้าวเรียนหนังสือ

 

 

หนูอยากเรียน..ผมอยากเรียน

ทองพูล  บัวศรี

ผู้จัดการโครงการครูข้างถนน  มูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก

 

 

          วันนี้ได้กี่บาท  มานั่งบนถนนอย่างนี้ไม่กลัวถูกจับ   แม่เด็กมองหน้าครูแล้วก็ก้มหน้าเงียบ  ครูได้ยื่นขนมให้เด็กน้อยที่นั่งข้างๆแม่  เด็กน้อยก็รีบกินหมดอย่างรวดเร็ว คิวต่อไปก็ยื่นนมให้หนึ่งกล่อง (เดี่ยวนี้ใช้นมกล่องเล็ก เพราะครูแบกนมกับขนมไม่ไหว  ตอนนี้ไหล่มีปัญหา หมอถึงให้หยุดเลยในการแบกของ แต่ก็อดไม่ได้เพราะลงพื้นที่เมื่อไร นมกับขนมคือสื่อการเข้าหาเด็ก) เด็กก็กินหมดทันที เสียงแม่บอกว่าตั้งแต่เช้าแล้ว อยู่กันแต่ในห้องเช่า/ห้องพักกรรมกรก่อสร้าง/ห้องพักของย่ามบริษัท ไม่ได้กินอะไรเลย สงสารลูก   เพราะช่วงนี้ออกมาบนถนนก็ถูกจับกันหมดครู  แม่ก็จะเริ่มพูดคุยเมื่อลูกได้กินอิ่มแล้ว คำบอกกล่าวก็พรั่งพรูออกมาจากปากแม่เด็กเร่ร่อนต่างด้าว  ครูฉันมีลูก 3 คน สองคนฉันไม่ได้เอามันมาด้วยขังมันอยู่ที่บ้านเช่า  ฉันอยากให้มันเรียนหนังสือ เด็กไม่เคยเรียนหนังสือเลยทั้งภาษากัมพูชาและภาษาไทย  เวลาฉันไปไหนฉันก็ใช้วิธีการถามเอาว่าอยู่ตรงไหน ฉันจะประตูน้ำ จะขึ้นรถเมล์สายไหน  ฉันก็ใช้วิธีการจำเอา  แล้วก็เดินทางตามที่จำได้ ไม่เคยออกนอกเส้นทางเลย เพราะกลัวกลับบ้านไม่ถูก  จะถามสามีก็ทำงานอยู่แต่ในแหล่งก่อสร้างเท่านั้น  ฉันไม่เคยไปไหนกับเขาเลย ก็อยู่ในแหล่งก่อสร้างนั้นแหละ    จนวันหนึ่งสามีฉันที่เป็นแรงงานที่เข้าเมืองผิดกฎหมายถูกตำรวจท้องที่กับตำรวจ ตม. จับ ไปทั้งสิ้น 157 คน เป็นกลุ่มผู้ชายทั้งหมดเหลือแต่ผู้หญิงกับเด็ก สามีฉันติดคุกอยู่ประมาณ 45 วัน ฉันกับลูกไม่มีอะไรกินกัน เลยมาพาลูกมานั่งขอเงินที่เอกมัย  ซึ่งครูมาพบ  ฉันไม่มีจริงๆไปทางไหนก็ไม่ถูก  แม่และเด็กตกอยู่ในสภาพอย่างฉันประมาณ 20 กว่าครอบครัว กำลังจนปัญญากันอยู่  แถมด้วยผู้รับเหมาก็ไม่จ่ายค่าแรงที่ค้างอยู่ของสามีฉันด้วย  อย่างนั้มันโกงค่าแรงงานกันชัดๆ  เขาก็บอกว่าให้อาศัยอยู่ที่บ้านพักกรรมกรก่อสร้างไปก่อน  จนกว่าสามีจะกลับมา   ครู...ฉันเองก็ไม่ได้เรียนหนังสือทั้งภาษาไทยและภาษากัมพูชา เขียนไม่ด้ อ่านไม่ออก เพียงแค่พูดได้เท่านั้น    ครูฉันอยากให้ลูกฉันได้เรียน  โรงเรียนในไทยเข้าเรียนได้ไหม   ครูช่วยฉันหน่อย  ฉันจะย้ายไปอยู่กับญาติที่สมุทรปราการ

          แม่... พาลูกมากี่คนนี้ 3 คน สองคนที่อยู่ตีนสะพานลอยอโศก  ลูกไม่ได้เรียนหนังสือกันเลยหรือ  ฉันไม่มีเงินส่งพวกมันเรียนหรอก  พ่อเด็กทำงานเป็นย่าม ได้วันละประมาณ 250-300 บาท แล้วแต่ว่าควงโอทีด้วย  แต่พ่อของเด็กไม่ได้มีงานทำทุกวัน และที่สำคัญคือได้เข้าเมืองถูกกฎหมาย จึงมีงานทำบ้างไม่มีงานทำบ้าง ช่วงนี้เด็กๆก็ได้ไปอาศัยบ้านครูมุ้ยที่ชุมชนเปรมฤทัย ในช่วงเสาร์-อาทิตย์มีแขกมาเลี้ยงอาหาร มีนักศึกษามาจัดกิจกรรม สอนหนังสือหัดอ่านและเขียนหนังสือบ้างเป็นครั้งคราว  บ้านครูมุ้ยมีเด็กมาทำกิจกรรมจำนวนมาก  หรือเด็กบางคนก็มาวันธรรมดา มานอนหลับบ้าง  แต่ที่สำคัญเด็กๆๆมาเพราะอยากเรียนหนังสือ อยากอ่าน อยากฟังนิทาน  อยากเขียนชื่อตนเองเป็นภาษาไทยได้ บ้านครูมุ้ย เช่าบ้านด้วยเงินส่วนตัว  แต่เด็กที่เร่ร่อนต่างด้าว มาเรียนหนังสือทำกิจกรรม

 

ตั้งแต่ ปี 2554 มีเด็กที่เข้ามารับบริการที่ โครงการฯ มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น โดยบางวันมีเด็กที่เข้าในโครงการฯสูงถึง 50 กว่า  ภายในบ้านเวลามีทำกิจกรรมของเด็กก็คับแคบ เพราะเป็นบ้านเช่าเฉพาะที่พักของครู  แต่กลายเป็นโรงทานประจำชุมชน  พร้อมกับเจอวิกฤติเรื่องงบประมาณในการดำเนินกิจกรรม  และปัญหาเด็กที่เข้ามาในโครงการฯ  มีปัญหาหลายเรื่อง ตั้งแต่การพูดภาษาไทยไม่ได้ (ทั้งการฟัง การพูด การอ่านและการเขียน)  มีปัญหาการส่งเสียงดังของเด็ก ทำให้คนรอบบ้านไม่ชอบเสียงเด็กเลย  ปัญหาบุคลากรที่อยู่บ้านมีคนเดียว ถึงแม้จะมีกลุ่มจิตอาสาเข้ามาช่วย ก็จะมาช่วยเป็นครั้งคราว  มีจิตอาสาบางคนที่เข้ามาช่วยมีปัญหาในเรื่องการมองเด็ก ความไม่ยุติธรรมแบ่งของบริจาคที่ให้เด็ก  ตลอดจนมีปัญหาเรื่องพฤติกรรม  สิ่งเหล่านี้เป็นปัญหาที่ต้องแก้ไขโดยด่วน

 

1.เด็กจำนวนมากในบ้าน ค่าใช้จ่ายก็ไม่มี  แล้วเด็กเหล่านี้ก็ถึงเวลาได้เข้าโรงเรียนแล้ว  ครูมุ้ยกับผู้อุปการะเป็นชาวต่างชาติอยากให้ทุนการศึกษาสำหรับเด็กกลุ่ม เดิมมีการประสานงานกับโรงเรียนวัดมหาวงษ์อยู่แล้ว  ด้วยทางโรงเรียนรับเด็กในชุมชน สามพี่น้องเข้าเรียน เป็นเด็กชาวกัมพูชา  อยู่แล้ว จึงได้พาเด็กทั้งหมดประมาณกว่า 30 คน ไปที่โรงเรียนเพื่อเข้าเรียนในช่วงเดือนพฤษภาคม 2556 ท่านผู้อำนวยการโรงเรียน ขอทดสอบเด็กแต่ละคน พร้อมมีการถามความสมัครใจของเด็กว่าเมื่อเข้าเรียนแล้วจะตั้งใจ และไม่ทำให้โรงเรียนเดือดร้อน โดยคุยและทดสอบการพูดและการเรียน  ท่านผู้อำนวยการรับไว้ก่อน 14 คน  ส่วนคนอื่นๆให้มาหัดเขียน หัดเรียนเพิ่มขึ้นก่อน  แต่มีเด็กเก่าที่ฝากเรียนมาแล้ว 2 คน  จนมาให้ปี พ.ศ.2557 เด็กเข้าอีก 10 คน และในปี พ.ศ.2558 อีกจำนวน 6 คน  ซึ่งทางโครงการครูข้างถนน  มูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก  จ่ายค่าใช้จ่ายสำหรับเด็กที่เพิ่งเข้า เพราะชื่อยังไม่ได้เข้าระบบอักษร “G” ต้องรายงานไปยังกระทรวงศึกษาธิการ และค่าใช้จ่ายบางอย่างเช่นกระเป๋า รองเท้า หรือต่าคอมพิวเตอร์  เป็นต้นที่ต้องช่วยให้เด็กอยู่ในระบบนานเท่าที่จะทำได้

 

          2.มีกระบวนการทำงานให้โรงเรียน รับเด็กเข้าเรียน / การประคองให้เด็กอยู่ในโรงเรียนนานที่สุด ประสานงานกับท่านผู้อำนวยการโรงเรียน และครูในระดับชั้นเรียนของเด็กแต่ละคน เมื่อเด็กมีปัญหาที่โรงเรียน  แต่ส่วนมากจะได้รับคำชม ในกรณีของการตั้งใจเรียน การรับรางวัลเขียนหนังสือภาษาไทยสวย  การแข่งขันกีฬาของเด็ก เปนเด็กที่อ่อนน้อม ตั้งใจเรียน ช่วยเหลืองานโรงเรียนเป็นอย่างดี มีน้ำใจ เป็นต้น  เรื่องทุนการศึกษา มีหน่วยงานประสานให้ทุนการศึกษาของเด็กเพิ่มเติม  ผู้อำนวยโรงเรียนเป็นผู้ดำเนินการทำประวัติและดูแลงบประมาณเรื่องอุปกรณ์การเรียนของเด็ก พร้อมทั้งกิจกรรมต่างๆ  มีการสอนการบ้านเพิ่มเติมหลังจากเด็กกลับจากโรงเรียน  เพราะเด็กบางคนเรียนไม่ทันเพื่อน  และต้องการหัดเขียน หัดอ่านเพิ่มเติม  และมีการอธิบายในการทำการบ้านของเด็ก  เพราะพ่อแม่ของเด็กก็สอนลูกไม่ได้  การประชุมผู้ปกครองของเด็กนักเรียน ร่วมกับการทำงานกับโรงเรียน ซึ่งครูมุ้ยจะเป็นการประสานงานกับโรงเรียนและผู้ปกครองนักเรียนเป็นส่วนใหญ่  ในกรณีที่เด็กเหล่านี้สร้างปัญหา เชิงพฤติกรรม ผู้อำนวยการโรงเรียนจะประสานงานกับทางโครงการฯในการดำเนินการแก้ไขปัญหาพฤติกรรมร่วม   ทางโรงเรียนมีกิจกรรมร่วมกันทางโครงการฯ เช่นการลงเยี่ยมบ้านของเด็กต่างชาติ หรือการลงเยี่ยมโครงการฯที่ดำเนินกลางอยู่ในชุมชนเปรมฤทัย

          3.การทำงานกับครอบครัวของเด็กที่เข้ามารับบริการที่โครงการฯ

          การทำงานกับครอบครัวของเด็ก ส่วนมากเริ่มจากเด็กที่ติดตามเพื่อนมาอยู่ที่โครงการฯ หรือบางคนก็มาหลบนอนเพราะที่ห้องนอนไม่เพียงพอกับสภาพในครอบครัว เป็นสถานที่ปลอดภัยของเด็ก และครอบครัวเด็กเองก็เห็นความปลอดภัย เมื่อเด็กมาอยู่ที่โครงการฯ เพราะเด็กได้ดื่มนม กินขนม อาหาร ที่มีคนมาเลี้ยง เด็กได้รับอาหาร ครอบครัวเด็กเองอยู่ในภาวะยากจน และไม่ได้ให้เด็กได้รับสิทธิขั้นพื้นฐาน  ส่วนมากเด็กจะต้องไปทำงาน(ขอทาน)กับครอบครัวในช่วงกลางคืน หรือบางครอบครัวทั้งกลางวันและกลางคืน ทำให้เด็กไม่ได้โอกาสในการเรียนรู้ หรือการพักผ่อน การกินอาหารที่ถูกสุขลักษณะ ครอบครัวเด็กที่ทำงานจนไม่มีเวลาดูแลลูก  บางคนก็ทิ้งลูกไว้กับยาย ย่า  ให้ให้เด็กเองก็ไม่ๆได้กินอาหาร หรือบางครอบครัวทิ้งเด็กไว้ตามยถากรรม  เมื่อมาที่โครงการฯก็จะได้อาหาร นม หรือการได้เล่นเครื่องเล่นของเด็ก  สำหรับครอบครัวของเด็กที่ได้มีโอกาสเข้าเรียน จะเข้าใจโครงการฯ ตลอดจนเป็นผู้ที่ดูแลครอบครัว หรือให้คำแนะนำกับครอบครัวอื่นๆด้วย โครงการฯจึงกลายเป็นเสมือนศูนย์อนามัยสำหรับคนจนไปด้วย พร้อมทั้งให้คำปรึกษา และรับรู้ความเคลื่อนไหวของครอบครัวต่างด้าวชาวกัมพูชา การมีปัญหาในเรื่องการดื่มสุรา การพนัน และการถูกจับกันเป็นประจำ

 

          4.กิจกรรมเสริมสำหรับเด็กที่เข้าเรียนและเด็กที่ต้องเตรียมตัวเข้าเรียนในอนาคต 

          สำหรับกลุ่มเด็กที่ต้องเข้าเรียนในปีการศึกษาต่อไป  ทางโครงการฯจะเน้นการเตรียมความพร้อมสำหรับเด็กตั้งแต่การหัดเขียน หัดอ่าน การฟังการสื่อสารที่จำเป็นในการเรียนหนังสือ  พร้อมทั้งการเตรียมตัวในการที่จะต้องปรับตัวเข้ากับทุกกลุ่มในโรงเรียน  เน้นกลุ่มการเสริมทักษะ การหัดพูด การกล้าแสดงออกของเด็ก ตลอดจนการโต้ตอบกับครู และเพื่อน  ตลอดจนการฝึกการฟังตามคำสั่งของครูและเพื่อน  คำพูดไหนที่ฟังไม่รู้เลยก็จะมีการแลกเปลี่ยนกันในกลุ่ม  ฝึกกิจกรรมการทำงานเป็นทีมและกลุ่มกิจกรรมการจัดทัศนศึกษาภายนอก ที่เสริมทักษะให้กับเด็ก ตลอดจนการปรับตัวของเด็กกับการเรียนรู้กับกลุ่มอื่นๆ

          ในปัจจุบันนี้ มีเด็กเรียนตั้งแต่ชั้นอนุบาล จนถึงประถมศึกษา ที่โรงเรียนวัดมหาวงษ์  จำนวน 33 คน 27 ครอบครัว ซึ่งเคยเป็นแม่และเด็กเร่ร่อนต่างด้าวที่ออกไปขอทาน  ปัจจุบันแม่ของเด็กได้เปลี่ยนอาชีพ  เพราะเด็กเหล่านี้จะบอกกับครอบครัวว่า พวกหนูได้เรียนหนังสือแล้ว  หนูอยากเรียนหนูไม่ไปขอเงินเด็ดขาด แต่ยังมีบางครอบครัวต้องการความช่วยเหลือ โดยเฉพาะการมีเงินก้อนขึ้นทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย

 

 

 

โรงเรียนวัดมหาวงาษ์  เป็นส่วนเปิดโอกาสให้กับเด็กกลุ่มนี้ สัมภาษณ์ นายสุเทพ จั่นมุ้ย 

 

          ได้เล่าถึงความหลังให้ฟังว่า มีเด็กมีเล่าให้ครูใหญ่ฟังว่าในชุมชนเปรมฤทัย มีครูมุ้ย (นางจรนัย เอียงอิ่ม) ที่เช่าบ้านเปิดการเรียนการสอน เตรียมความพร้อมให้เด็กก่อน ก่อนที่เด็กจะมาเข้าเรียนที่ โรงเรียนมหาวงษ์  และแอบลงพื้นที่ไปถามผู้ปกครองและเข้าบ้านครูมุ้ยอย่างเปิดเผย  สังเกตเด็กแต่ละคนที่จะเข้าเรียน  โดยคำนึ่งถึง

 

1.หลักการให้โอกาสเด็กเร่ร่อนต่างด้าวเข้าเรียน  เริ่มต้นในการศึกษาระเบียบของกระทรวงศึกษาธิการ ตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542  โดยการเน้น ที่ให้โอกาสเด็กด้อยโอกาสก่อน  ซึ่งเป็นช่วงอายุของเด็ก ตั้งแต่ 7-14 ปี   ด้วยโรงเรียนมีอาคารสถานที่พร้อม และห้องเรียน สามารถที่จะรับเด็กเข้าเรียนได้อีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งโรงเรียนก็ไม่แออัด พร้อมที่จะเป็นสถานที่เรียนรู้ด้วย   ทางโครงการจัดการศึกษาให้กับเด็กและช่วยเหลือ คุ้มครองสิทธิเด็กด้อยโอกาส “ชุมชนเปรมฤทัย” ได้พาเด็กๆซึ่งเป็นกลุ่มเด็กเร่ร่อนชาวกัมพูชามา จำนวน 30 คน ไปที่โรงเรียนที่จะเข้าเรียนก่อน โดยทางผู้อำนวยการโรงเรียนขอทดสอบเด็กที่ละคน เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมของเด็กที่ละคน และเหมือนเป็นสัญญาว่าให้เด็กได้ตั้งใจเรียน  พร้อมที่จะปรับตัวในการเรียนรู้พร้อมกับการเรียนภาษาไทยเป็นพื้นฐาน  ในครั้งนี้รับเด็กเข้าเรียนทั้งสิ้น จำนวน 14 คน ในภาคการศึกษาปี  2556  แต่มีเด็กเก่าที่เป็นชาวกัมพูชาอยู่แล้ว 2 คน   การทำประวัติของเด็กแต่ละคน ซึ่งเป็นแบบสำรวจ  ป. 089 (แบบฟอร์มสำหรับเด็กที่ไม่มีเอกสารเข้าเรียน ตามมติ ครม.ปี พ.ศ. 2548) ผู้อำนวยการโรงเรียนทำงานร่วมกับโครงการจัดการศึกษาให้กับเด็กและช่วยเหลือ คุ้มครองสิทธิเด็กด้อยโอกาส “ชุมชนเปรมฤทัย” โดยมีการเยี่ยมบ้าน หรือทางโครงการฯพาแม่เด็กได้ไปร่วมกิจกรรมที่โรงเรียน  เป็นการทำงานร่วมกันทั้ง ตัวโครงการฯ ตัวผู้บุคคลที่ต้องมีการปรับตัว   โรงเรียนเองได้มีการเสนอรายชื่อของเด็กทั้งหมดที่เป็นนักเรียนชาวกัมพูชา โดยเสนอ ไปที่ กระทรวงศึกษาธิการ โดยมีคำนำหน้า ตัวอักษร “G” ถ้ากระทรวงจะตัดงบประมาณค่าหัวมาให้เด็ก ส่วนครอบครัวจะต้องจ่ายเป็นค่าพาหนะเด็กไป-กลับโรงเรียน ค่าอาหารทั้งสามื้อของเด็ก หรือกิจกรรมบางอย่าง  สำหรับทางด้านเอกสารทั้งทางโครงการฯและโรงเรียนไม่ได้ดำเนินการให้

 

2.มีกลวิธีในการสร้างที่ยืนให้กับเด็กเร่ร่อนต่างด้าวในโรงเรียน 

          -เริ่มตั้งแต่การเริ่มแนะนำที่มีเด็กต่างชาติเข้ามาเรียนในโรงเรียน และเน้นไปเรื่องความเป็นอาเซียนด้วยกัน ทุกคนต้องเรียนรู้ในการอยู่ร่วมกัน แล้วก็เน้นการฝึกการพูดภาษาอาเซียน ตั้งแต่ ภาษกัมพูชา ที่มีเด็กเข้าเรียน  โดยจัดให้เด็กชาวกัมพูชามา พูดภาษากัมพูชา วันละ หนึ่งคำ หน้าเสาธงทุกวัน ในช่วง เคารพธงชาติ..  เน้นการสร้างพื้นที่ให้เด็กต่างชาติ  พร้อมทั้งการแสดงตัวตนของเด็กให้เพื่อนๆที่เป็นเด็กไทยได้รู้จัก     มีกิจกรรมการเรียนรู้เรื่องอาหารในอาเซียน  โดยให้แม่เด็กที่เป็นชาวกัมพูชา ได้ทำอาหารมาแลกเปลี่ยนให้เด็กได้รับประทานทั้งโรงเรียนในช่วงกิจกรรมพิเศษของโรงเรียน  หรือบางครั้งในชั่วโมงการเรียนก็เชิญผู้ปกครองมาเล่าให้ฟังเรื่องวิถีชีวิตของอาเซียน   เมื่อมีฝนตกสนามหน้าโรงเรียนจะมีน้ำท่วมที่สนาม เป็นจำนวนมาก  จะมีเด็กชาวกัมพูชาซึ่งเป็นเด็กโต ที่กวาดสนามที่สะอาดมาก  ซึ่งผู้อำนวยการโรงเรียนก็จะมีชมหรือให้ทุกคนตบมือให้เด็กชาวกัมพูชา  (ชื่อเด็กชายกรี เยือน) ในช่วงหลังๆก็เริ่มมีการผลัดเวรให้เด็กชาวกัมพูชาที่เป็นเด็กผู้ชายเข้ามารับผิดชอบทุกคน แล้วให้เด็กไทยรวมกันทำความสะอาดในสนามของโรงเรียนรวมกัน ฝึกการทำงานเป็นทีมทั้งเด็กไทยและเด็กต่างชาติ    เวลาที่เด็กชาวต่างชาติกระทำความผิด  ก็มีการลงโทษที่เหมือนเด็กไทย แต่มีการอบรมระยะยาวเหมือนกัน  ตัวอย่างเช่น เด็กชาวกัมพูชา 2 คน ที่เอานมของโรงเรียนที่แจกให้ทุกคนกลับไปดื่มที่บ้าน  เพราะเป็นช่วงกำลังจะปิดเทอม  แต่เด็ก 2 คน เอานมทั้งหมดไปฉีกแล้วเททิ้ง  ผู้อำนวยการเรียกเด็ก 2 คน มาคุย พร้อมแม่เด็กว่าทำอย่างนี้ไม่ถูกต้อง จะทำให้มีปัญหากับเด็กไทย ซึ่งเด็กไทยเองก็ไม่อยากคบค้ากับเด็กกัมพูชา  จะกลายเป็นปัญหาเรื่องการแบ่งสัญชาติ ในอนาคต   การสร้างเวทีมีอยู่ครั้งหนึ่งที่โรงเรียนต้องแข่งกีฬาระดับเขตการศึกษา เขตที่ 1 สมุทรปราการ ส่งนักกีฬาระดับอนุบาล ประถมศึกษา โรงเรียนของเราไม่เข้ารอบเลย ยกเว้นระดับชั้นอนุบาล ที่มีเด็กชาวกัมพูชา ได้รับรางวัลชนะเลิศวิ่งแข่ง 100 เมตร, 200 เมตร, 300 เมตร เป็นเหรียญทอง  ผู้อำนวยการโรงเรียน เจ้าหนูน้อยสามเหรียญ  วันรุ่งขึ้นผู้อำนวยการโรงเรียน ก็ประกาศหน้าเสาธง กับที่เด็กชาวกัมพูชา นำชื่อเสียงมาให้โรงเรียน  เด็กน้อยได้มีที่ยืนในโรงเรียนอย่างสง่ามาก และเป็นที่ยอมรับของพี่ๆเพื่อนในโรงเรียน เด็กชาวกัมพูชา เป็นตัวแทนในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ของโรงเรียนวัดมหาวงษ์ ไปคัดไทยในเขตการศึกษาเขตที่ 1 ได้รับรางวัลชนะเลิศ  สิ่งเหล่านี้ตัวเด็กชาวกัมพูชาสามารถทำได้ดีเพราะมีความตั้งใจ และคัดไทยสวยมาก เรื่องการตั้งใจเรียน และการฝึกการอ่านของเด็กชาวกัมพูชาฝึกกันเองอย่างมาก จนเด็กอ่านคล่องมากกว่าเด็กไทยในชั้นเรียน

 

3.การจัดกิจกรรมการปรับทัศนคติของครูในโรงเรียน 

          -เริ่มต้นจากการปรับทัศนคติของครูในโรงเรียนว่า โรงเรียนของเราพร้อมที่จะรับเด็กเหล่านี้ ครูเองก็ถือว่าได้ทำบุญทำกุศล ไม่ได้เสียหายอะไร มีแต่ได้ เพราะทำให้เด็กได้รับโอกาสที่ดีทางการศึกษา เป็นการทำบุญครั้งยิ่งใหญ่  เวลามีการประชุมครูในโรงเรียน ก็เน้นการสอบถามว่าเด็กเหล่านี้สร้างความหนักใจให้กับครูด้านใดบ้าง  ส่วนมากจะได้รับเสียงตอบรับอย่างดีกับครู  เรื่องการช่วยเหลืองานครูในห้องเรียน ตลอดจนการรับภาระในห้องเรียนแทนเพื่อนๆ เช่นการทำความสะอาด เรื่องจิตอาสา ในการทำงานส่วนร่วม  การตั้งใจเรียน การการส่งการบ้านอย่างสม่ำเสมอ เป็นต้น  เด็กชาวกัมพูชาที่เรียนในแต่ละระดับชั้น บางกิจกรรมเขาจะมีความสามารถ เช่นการกล้าแสดงออก การร้องเพลง การพูดคุยกับคนแปลกหน้า การโต้ตอบ เป็นต้น  ซึ่งทางครูก็จะให้เด็กชาวกัมพูชาได้เป็นตัวแทนของระดับชั้นเรียน  ถือได้ว่าเป็นการเปิดโอกาส และสร้างแรงบันดาลใจให้กับเด็กไทยที่ต้องตั้งใจเรียนด้วย  บางครั้งก็มีการยกตัวอย่าง

 

4.ความประทับใจกับเด็กชาวกัมพูชาที่มาเรียนโรงเรียนวัดมหาวงษ์ 

          -เด็กชาวกัมพูชาใช้ความพยายาม และความอดทนในการเรียนอย่างมาก  และการเรียนภาษาไทย เด็กเองก็อยากเรียนด้วย  ในการช่วยเหลือครูและเพื่อน เด็กกลุ่มนี้จะช่วยเหลือทุกคน ถึงแม้บางครั้งเด็กเองจะล้อเลียนกันเองในกลุ่ม แต่ไม่ถึงขั้นทะเลาะกัน  เด็กมีความอ่อนน้อมถ่อมตน เรียกชื่อครูเพราะมาก ตลอดจน เป็นเด็กที่เจียมตัว เห็นความตั้งใจ เช่นกรณีของเด็กชายกรี  ที่เรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 เป็นเด็กช่วงอายุ ประมาณ 11 ปี จะเป็นคนที่กวาดลานสนามหน้าโรงเรียนสะอาดมาก  และจะช่วยเหลือครูทุกเรื่องเมื่อเขาทำได้  ผู้อำนวยโรงเรียนจึงให้โอกาสเด็กกลุ่มนี้

 

 

คำถามคนทั่วไปทำไมครูต้องสนใจเด็กเร่ร่อนต่างด้าวด้าว 

ครูเมื่อชาติก่อนครูเป็นคนเขมรหรือ..!!! ทำไม่ครูดูสนใจเอาใจใส่กับเด็กเขมรมากมายขนาดนี้  ทั้งแม่และเด็กเร่ร่อน เด็กลูกกรรมกรก่อสร้าง ครูก็บอกว่าเป็นกลุ่มที่ต้องเอาใจใส่ หาแนวทางให้เด็กเหล่านี้       ได้รับสิทธิขั้นพื้นฐาน โดยเฉพาะกลุ่มที่ขาดโอกาส กลุ่มเด็กที่อพยพติดตามมาเป็นแรงงานข้ามชาติ เด็กลูกกรรมกรก่อสร้าง จะเด็กเขมรหรือเด็กไทยใครๆก็เรียนได้     ความรู้ที่ไร้ขีดจำกัด

ปัจจุบันการศึกษาของประเทศไทยไม่ว่าจะเป็นในระบบหรือนอกระบบ  เด็กไทยค่อนข้างให้ความสนใจในเรื่องการศึกษา การเรียนน้อยลง แต่ในมุมๆหนึ่งของสังคมไทยที่หลายๆคนมองข้าม กลับมีเด็กอีกกลุ่มหนึ่ง  ซึ่งไม่ใช่คนไทยอาศัยอยู่ในสังคมไทยอย่างไม่เปิดเผย    และให้ความสนใจที่จะไขว่คว้าอยากจะเรียนอยากจะอ่าน ตลอดจนหัดพูดเขียนภาษาไทย   ทั้งๆที่มันไม่ใช่ภาษาของพวกเขาเลยแต่เพื่อที่  จะสามารถใช้ชีวิตอยู่ในสังคมไทยได้อย่างปกติหมือนเด็กไทยคนอื่นๆ  เพราะเหตุนี่จึงทำให้เขาอยากจะเรียนรู้มันแล้วคุณละคิดยังไงกับเด็กกลุ่มนี้

 

เธอลองดูเด็กเหล่านี้แต่งตัวได้ไปโรงเรียน ใส่ชุดนักเรียน เขารักชุดนักเรียนเป็นที่สุด เพราะกว่าเขาจะชุดเหล่านี้ต้องใช้เวลามากมาย สิ่งที่ดำเนินเพราะต้องการให้เด็กได้รับโอกาสที่พึ่งมีพึ่งได้ตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก และมาตรฐานขั้นต่ำที่เด็กควรได้ ไม่ว่าเด็กประเทศไหนก็ตาม 

1.เด็กทุกคนเข้าถึงโอกาสทางการศึกษา  ตามพระราชบัญญัติการศึกษา  พ.ศ. 2542 แก้ไขเพิ่มเติม ปี พ.ศ. 2551  และมติคณะรัฐมนตรี ปี พ.ศ.2535  แก้ไขเพิ่มเติมเมื่อ ปีพ.ศ. 2548 เมื่อคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2548 อนุมัติหลักการระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยหลักฐานวัน เดือน ปีเกิด ในการรับนักเรียนนักศึกษาในสถานศึกษา พ.ศ. 2548 รวมทั้งให้ความเห็นชอบแนวปฏิบัติการจัดการศึกษาแก่บุคคลที่ไม่มีหลักฐานทะเบียนราษฎร หรือไม่มีสัญชาติไทย ตามที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอ ในปัจจุบันนี้มีเด็กเหล่านี้เรียนที่ โรงเรียนวัดมหาวงษ์ จำนวน 33  คน  โรงเรียนวัดหลักสี่ จำนวน 12 คน โรงเรียนเคหะทุ่งสองห้อง 2 จำนวน 1 คน โรงเรียนดอนเมืองจาตุจินดา จำนวน 1 คน โรงเรียนวัดกลางคลองสี่ จำนวน 1 คน เป็นต้น

  

2.เด็กได้มีโอกาสพัฒนา ทักษะชีวิต และการผลักดันให้ครอบครัว(พ่อ แม่ ยาย ย่า ) เลิกการออกมาขอทาน ปรับเปลี่ยนอาชีพไปสู่งานรับจ้างในโรงงานแบกข้าวสาร โรงงานเหล็ก งานก่อสร้าง ทำอาหารขายเอง เป็นต้น 

3.เด็กเองได้มีโอกาสการเรียนรู้ ในเรื่องภาษาพูด ฟัง อ่าน เขียน  ภาษาใดภาษาหนึ่ง  ซึ่งเด็กเหล่านี้บางคน ไม่เคยได้กลับประเทศต้นทางของครอบครัวเลย จึงไม่มีโอกาสได้เรียนภาษาต้นทางของประเทศ  แต่เด็กเหล่านี้เรียนรู้ภาษาที่อยู่ในปัจจุบัน (ภาษาไทย หลักสูตรการเรียนภาษาไทย)  เพื่อสื่อสารในสังคมได้

4.เด็กเหล่านี้ไม่ได้ตกเป็นเหยื่อการแสวงหาประโยชน์ เพราะสามารถดำเนินชีวิตได้ให้ระดับหนึ่ง ตลอดจนการมีอาชีพ เมื่อจบการศึกษาในแต่ละระดับชั้นการเรียนตามความสามารถของเด็ก  เป็นเป็นพลเมืองอาเซียนที่คุณค่าในอนาคต

 

การศึกษาจึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับกลุ่มเด็กเร่ร่อนต่างด้าว  เด็กเหล่าขอเพียงโอกาสว่า “หนูอยากเรียน” เพื่อพัฒนาตนเองเหมือนเด็กทุกคนในอาเซียนที่มีโอกาส เท่าเทียมกัน  โดยเฉพาะ เด็กทุกคนต้องได้เรียนเมื่ออยากเรียน  เรียนได้ถึงระดับอุดมศึกษา  เมื่อเรียนจบแล้วต้องได้หลักฐานทางการศึกษา สถานศึกษาได้ค่าใช้จ่ายรายหัว  การออกนอกเขตกำหนดครั้งเดียวเรียนได้ตลอดหลักสูตร

 

                                     ..........................................................