banner
พุธ ที่ 13 เดือน พฤศจิกายน พ.ศ.2562 แก้ไข admin

การเข้าถึงการศึกษา...ของเด็กเร่ร่อนไทย/เด็กเร่ร่อนต่างด้าว และเด็กลูกกรรมกรก่อสร้าง

 

                                                                                        นางสาวทองพูล  บัวศรี

ผู้จัดการโครงการครูข้างถนน/โรงเรียนเด็กก่อสร้างเคลื่อนที่

 

มูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก

ความเป็นมา

          การดำเนินการช่วยเหลือของมูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก ได้ดำเนินการช่วยเหลือ กลุ่มเป้าหมาย คือกลุ่มเด็กเร่ร่อนไทย/เด็กเร่ร่อนต่างด้าว  เด็กลูกกรรมกรก่อสร้าง เป็นกลุ่มเด็กที่เข้าถึงเด็กด้วยความยาก เด็กไม่ไว้วางใจคน ไม่เปิดเผยตัวตน ไม่ต้องการความช่วยเหลือ ตามพื้นที่สาธารณะ และในแหล่งก่อสร้าง  เมื่อลงทำงานสิ่งที่พบในภาคสนาม คือเด็กทั้งสามกลุ่มนี้ ไม่มีโอกาสเข้าถึงการศึกษา ด้วยเหตุผลคือเด็กไม่มีเอกสารแสดงตัวตน  มีการย้ายงานของครอบครัวอยู่เสมอ  ครอบครัวไม่ให้ความสำคัญทางการศึกษา  เงินไม่มีที่จะถูกให้ลูกได้เรียน ระเบียบของกระทรวงไม่รับเด็กที่ไม่มีการศึกษาเข้าเรียน

 

วัตถุประสงค์

          ให้เด็กเร่ร่อนไทย/เด็กเร่ร่อนต่างด้าว  เด็กลูกกรรมกรก่อสร้าง  ได้เข้าเรียนตามสิทธิที่เด็กควรได้รับ ที่กล่าวไว้ในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิเด็กและเยาวชน ซึ่งเป็นวัตถุประสงค์ขององค์กรในการทำงานช่วยเหลือกลุ่มเด็กด้อยโอกาส

 

การดำเนินงาน

          1.ด้วยทางองค์กรมีโครงการศูนย์เด็กก่อสร้าง ที่ลงไปทำงานกับเด็กที่ติดตามครอบครัวมาอยู่ในแหล่งก่อสร้าง เด็กไม่ได้เรียนหนังสือ  และโครงการครูข้างถนน  ที่ลงไปพบเด็กเร่ร่อนบนท้องถนน ตามสี่แยก สวนสาธารณะ  ป้ายรถเมล์ สถานีรถไฟหัวลำโพง  ฯลฯ สิ่งที่พบคือเด็กไม่ได้เรียนหนังสือ  และทางโรงเรียนก็ไม่รับเด็กที่ไม่มีเอกสารแสดงตัวตน เป็นจำนวนมาก  ทางมูลนิธิสร้างสรรค์ได้ดำเนินให้เด็กทั้งสองกลุ่มเป้าหมายได้เข้าเรียน  และบางคนต้องคืนเด็กไปสู่การศึกษาอีกครั้ง  ได้ดำเนินการคือ

-ผลักดันให้เกิดนโยบายและแผนพัฒนาเกี่ยวกับเด็กด้อยโอกาส โดย ปี 2534 ได้ร่วมกับองค์กรพัฒนาเอกชนด้านเด็ก โดยพบว่าปัญหาที่เกิดขึ้นกับเด็กเร่ร่อน เด็กลูกกรรมกรก่อสร้าง เด็กกําพร้า ฯลฯ เป็นเด็กที่ขาดเอกสารหลักฐาน,ใบเกิด,ทะเบียนบ้าน ที่จะเข้าเรียนในโรงเรียนที่สังกัดกรุงเทพมหานคร และสังกัดสำนักงานคณะกรรมการประถมศึกษาแห่งชาติ ไม่รับเด็กเข้าเรียนในโรงเรียนต่างๆ จึงได้ทำหนังสือ พร้อมนำตัวแทนกลุ่มเด็กเร่ร่อน และเด็กลูกกรรมกรก่อสร้าง  ยื่นหนังสือและบอกกล่าวการไม่มีเรียนหนังสือ ทางโรงเรียนปฏิเสธ เพราะไม่มีระเบียบปฏิบัติให้เด็กเหล่านี้เข้าเรียน กับท่านปลัดกระทรวงศึกษาธิการ(นายโกวิท วรพิพัฒน์) และปลัดกรุงเทพมหานคร(นางบุญนำ ทานสัมฤทธิ์)  เพื่อหาแนวทางแก้ไข กระทั่ง ทางกระทรวงศึกษาธิการได้ออก  ระเบียบว่าด้วยหลักฐาน วันเดือน ปีเกิด ในการรับนักเรียน นักศึกษาเข้าเรียน ในสถานศึกษา พ.ศ.2535 และแนวปฏิบัติ ในการจัดการศึกษาสาหรับเด็กที่ไม่มีหลักฐาน ทะเบียนราษฎรและเด็กที่ไม่มีสัญชาติไทย  สำหรับโรงเรียนสังกัดสำนักการศึกษา กรุงเทพมหานคร ให้รับเด็กทุกคนเข้าเรียนไว้ก่อนแล้วให้ระยะเวลาในการหาหลักฐานของเด็ก โดยมีโรงเรียนนำร่องหลายโรงเรียน เช่น โรงเรียนวัดเทวสุนทร โรงเรียนวัดหลักสี่ โรงเรียนตลิ่งชัน เป็นต้น แต่โรงเรียนที่สังกัดสำนักงานคณะกรรมขั้นพื้นฐาน ยังไม่อนุญาตให้เด็กเข้าเรียนจนกระทั่งปี 2541 ได้มีคาสั่งจากรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ ให้ทุกหน่วยงานที่สังกัดกระทรวงปฏิบัติตามระเบียบข้างต้น


-ได้มีคณะทำงานดำเนินการจนทางกระทรวงศึกษาธิการลงไปพื้นที่ ว่าในทางปฏิบัติยังเป็นปัญหา และสถานการณ์มีการเปลี่ยนแปลง จึงได้มีการเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้ง และคณะรัฐมนตรี มีมติเมื่อ วันที่ 5 กรกฎาคม 2548 เห็นชอบการจัดการศึกษาแก่บุคคลที่ไม่มีหลักฐานราษฎรหรือไม่มีสัญชาติ ตั้งแต่ระดับอนุบาล จนถึง ระดับอุดมศึกษา หรือตามความสามารถของเด็กแต่ละคน

 

ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นต่อกลุ่มเป้าหมาย

          1.ประโยชน์ที่เกิดกับเด็กที่เข้ามารับบริการในมูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก  ได้เข้าเรียนจำนวนไม่น้อย 3,000 คน ที่กระจายตัวในโรงเรียนที่สังกัดกรุงเทพมหานคร  สังกัดสำนักการศึกษาขั้นพื้นฐาน และโรงเรียนศึกษาสงเคราะห์และราชประชานุเคราะห์  และเด็กบางส่วนเรียนการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย  โดยทางมูลนิธิฯ ได้ดำเนินการจัดกลุ่มการเรียนเฉพาะเด็กเร่ร่อน,เด็กลูกกรรมกรก่อสร้าง  เน้นกระบวนการสมัครไม่มีรอบสอบไม่มีรุ่น  แต่ต้องยุติบทบาทเพราะระเบียบการจัดตั้งกลุ่ม

          2.มติคณะรัฐมนตรี ทั้งปี 2535 และ ปี 2548  ส่งให้หน่วยงานต่างๆ ใช้ไปช่วยเหลือเด็กที่เข้ามาอยู่ในประเทศ  โดยเฉพาะเด็กต่างชาติที่ได้รับ อักษร “G” ที่ยังค้างการดำเนินการอยู่ในกระทรวงศึกษาธิการ 98,000 คน  เด็กเหล่านี้เข้าถึงการศึกษา

          3.ทางโครงการข้างถนน ได้ใช้ระเบียบฉบับนี้ สร้างที่ยืนทางการศึกษาให้กับเด็กเร่ร่อนต่างด้าว ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2554 จนถึงปัจจุบันที่ได้เข้าเรียนจำนวนกว่า 350 คน ที่เรียนจบตามช่วงชั้น และจบในระดับประถมศึกษา ที่เด็กบางคนที่ต้องกลับประเทศต้นทาง  ในปัจจุบัน ยังมีเด็กเร่ร่อนต่างด้าว ที่เข้าเรียนในโรงเรียนต่างๆกว่า 83 คน และศูนย์พัฒนาเด็กเล็กกว่า 23 คน

          จากที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่า มติคณะรัฐมนตรี  ปี 2535 เป็นจุดเริ่มต้น ให้กับเด็กที่ไม่มีหลักฐานตามกฎหมายว่าด้วยทะเบียนราษฎรให้โรงเรียนรับเข้าเรียน เป็นการเปิดโอกาสให้เด็กได้เข้าถึงการศึกษา ตามหลักของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ที่นำมาปฏิบัติได้จริง

          และได้มีการแก้ไข มติคณะรัฐมนตรี ปี 2548  ให้ความสำคัญ เด็กอยากเรียนต้องได้เรียน  ให้ปฏิบัติได้จริง ในทางปฏิบัติก็ขึ้นอยู่กับผู้อำนวยการโรงเรียนแต่ละแห่ง  และทางมูลนิธิฯได้นำเรื่องที่โรงเรียนไม่รับเด็กต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

  

 

ข้อท้าทายระหว่างการดำเนินการ

          ถึงจะมีมติคณะรัฐมนตรี  มีพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 แก้ไข ปี พ.ศ. 2551  และล่าสุด มีพระราชบัญญัติกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา พ.ศ. 2561  แต่สถานศึกษาบางแห่งก็ยังไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย และมติ คณะรัฐมนตรี  ส่งผลให้เด็กอีกจำนวนมากยังไม่เข้าถึงการศึกษาแม้จะเปิดโอกาสด้วยกฎหมายแล้วก็ตาม

 

สิ่งที่ต้องดำเนินการต่อไป

          1.ควรมีการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารให้กับทุกหน่วยงาน และมีการบังคับใช้อย่างจริง 

      2.กระตุ้น เพื่อสร้างความตระหนัก ให้สถานศึกษารับเด็กทุกคนที่อยู่บนแผ่นดินไทยได้รับการศึกษา ตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก

      3.สำหรับเด็กเร่ร่อนไทย/เด็กเร่ร่อนต่างด้าว  เด็กลูกกรรมกรก่อสร้าง  ก็ต้องส่งเข้าระบบการศึกษา ตามกฎหมาย ระเบียบ มติคณะรัฐมนตรี ได้เปิดโอกาสให้เข้าถึงสิทธิทางการศึกษา  ถึงแม้จะเป็นรายกรณีศึกษาก็ตาม

 

 

 

ข้อมูลเพิ่มเติม หรือประกอบ

ที่ทางกองทุนเพื่อเสมอภาคทางการศึกษา เผยแพร่ เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2562

 

 

https: //www.eef.or.th/171019/