banner
จันทร์ ที่ 16 เดือน กันยายน พ.ศ.2562 แก้ไข admin

ทำไม.........ต้องมีโรงเรียนเด็กก่อสร้างเคลื่อนที่...(ตอนที่ 1)

                         
นางสาวทองพูล  บัวศรี

ผู้จัดการโรงเรียนเด็กก่อสร้างเคลื่อนที่  มูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก

 

          เช้าวันที่ 26 สิงหาคม  2562  ครูได้นัดสัมภาษณ์ให้กับทีมงานของ “กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา”  กองทุนเกิดขึ้นตามพระราชบัญญัติ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา พ.ศ. 2561  คำถามที่ให้ครูที่ให้สัมภาษณ์   ว่า  “ทำไม.........ต้องมีโรงเรียนเด็กก่อสร้างเคลื่อนที่”

          สำหรับครูเอง ต้องใช้เวลาทบทวนว่า  ทำไม....ครูต้องคิด ต้องทำ และต้องมีโรงเรียนเด็กก่อสร้างเคลื่อนที่

          คงต้องเริ่มตั้งแต่ครูมาสมัครเป็นอาสาสมัคร ในปี พ.ศ.2531  ในเดือนพฤษภาคม งานที่ครูเริ่มในการทำงาน คือ โครงการครูเดินสอนในแหล่งก่อสร้าง  หน้าที่คือเดินหิ้วกระเป๋า หรือ สิ่งของ  ซึ่งเริ่มงานครั้งแรกที่บริษัทปรีชา  สอนในแหล่งก่อสร้างที่หมู่บ้านปรีชา 9 เขตมีนบุรี  ในขณะนั้นไม่มีโรงเรียน ครูกับเพื่อนครูต้องอาศัยห้องพักที่ร้างของคนงานก่อสร้าง เป็นโรงเรียนชั่วคราว ในการสอนหนังสือเด็กๆๆที่ติดตามพ่อแม่มาทำงานในแหล่งก่อสร้าง 



          ตัวครูก็ย้ายไปเปิดศูนย์เด็กก่อสร้างแห่งใหม่ ที่พุทธมณฑล สาย 2 การก่อสร้างหมู่บ้านชวนชื่น ของบริษัทมั่นคงเคหะการ  ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการที่เจ้าของโครงการฯที่มามีส่วนร่วมออกค่าใช้จ่ายเรื่องอาหารกลางวัน  กลายมาเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างเจ้าของโครงการแหล่งก่อสร้างกับทางโครงการฯในเรื่องสนับสนุนงบประมาณค่าอาหาร ค่าเงินเดือนครู ค่าทัศนศึกษา และรักษาพยาบาล

          จนเมื่อปี พ.ศ. 2535 เป็นต้นมาที่ทางโครงการฯ ขายงานไปยังสำนักพัฒนาสังคม  กรุงเทพมหานคร  เป็นเจ้าของพื้นที่ ที่อนุญาตให้มีการก่อสร้าง  ควรที่จะมีศูนย์เด็กก่อสร้าง  และเปิดรับเจ้าหน้าที่พักตามสถานที่ก่อสร้าง  ทางมูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก ได้เริ่มโครงการรถสัญจร  ไปตามแหล่งก่อสร้างด้วย รถมินิ งบประมาณจาก Save the Children  Japan  ให้งบประมาณในการดำเนินการจำนวนหนึ่งในการซื้อ ตระเวนไปตามแหล่งก่อสร้าง โดยการให้ความรู้กับคนงานก่อสร้างเรื่องการวางแผนครอบครัว  โรคที่เกิด  โดยอาศัยเครื่องฉายหนัง 16 มิล  พร้อมทั้งขอยืมฟิลม์มาจากหน่วยงานต่างๆ เป็นแผ่นฉาย



          สิ่งที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือการเสริมบทบาทของครูศูนย์เด็กก่อสร้างในการทำงานกับผู้ปกครองเด็ก  โดยการอาศัยสื่อต่างๆ  พร้อมการแลกเปลี่ยนข้อมูล

          เมื่อปี พ.ศ. 2540 เมื่อเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ การลดค่าเงินบาท  การกระทบกับงานก่อสร้าง และบริษัทที่พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ได้รับกระทบ  ทำให้ศูนย์เด็กก่อสร้างต้องยุติการทำงาน  เพราะไม่มีงบประมาณในการดำเนินการ  และต้องยุติเพราะคนงานก่อสร้างกลับไปยังชนบท  ไม่มีเด็ก พร้อมทั้งแหล่งก่อสร้างต่างๆ ไม่มีบุคคลที่ซื้อขาย

          เมื่อปลายปี พ.ศ. 2549  เริ่มมีบริษัทก่อสร้าง ได้ติดต่อที่อยากจะเปิดศูนย์เด็กก่อสร้างอีกครั้ง โดยเฉพาะเจ้าของโครงการนารายณ์ พร๊อพเพอตี้  สร้างเดอะพารค์แลนด์ศรีนครินทร์  ระยะเวลาการก่อสร้างจำนวน 3 ปี พร้อมอาคารสถานที่ กับงบประมาณสนับสนุนอีกครั้ง   สุดท้ายทางบริษัทยุติการสนับสนุนตั้งแต่ปี 2554  ทางโครงการพยายามหางบประมาณเพื่อให้โครงการศูนย์เด็กก่อสร้างเดินต่อได้ในปี 2556 และ 2557  จาก “กองทุนวิจิตรพงศ์พันธุ์ ”  และประคับคองโครงการให้ดำเนินต่อมาจน ปลายปี 2559 พร้อมกับ บริษัทหันมาสนับสนุนโครงการอีกครั้ง

          จนเมื่อเดือนมีนาคม 2559  ทางกรรมการผู้จัดการบริษัทนารายณ์  มาพบกับครูพร้อมมาเลี้ยงอาหารเด็กที่มูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก ได้พบกับครูจิ๋วอีกครั้ง ว่าอยากทำอะไร  บอกทันที่ว่า  อยากได้รถลงพื้นที่ไปตามแหล่งก่อสร้าง  ที่ต้องการเปิดศูนย์เด็กก่อสร้าง แต่ทางโครงการไม่สามารถเปิดศูนย์เด็กก่อสร้างด้วยงบประมาณที่สูงมากในแต่ละเดือน และหาคนที่จะต้องจัดการเรียนการสอน ที่จะนอนในแหล่งก่อสร้าง  หาคนทำงานไม่ได้เลย  มีแต่จะเข้ามาสอนเวลา เก้าโมงเช้า กลับสี่โมงเย็น  เด็กได้ประโยชน์ไม่เต็มที่ และครูกับผู้ปกครองเด็กไม่มีโอกาสได้เจอกันเลย

          ทางบริษัทนารายณ์พร๊อพเพอตี้ ได้มอบรถ โรงเรียนเด็กก่อสร้างเคลื่อนที่ พร้อมทั้งอุปกรณ์การเรียนการสอน  ทีวีเครื่องเสียงประจำรถให้ทางโครงการฯ

          สำหรับครูมารับโครงการจริงๆ พร้อมดำเนินการในวันที่ 1 มิถุนายน 2560  พร้อมทั้งวางแผนการดำเนินการแบครบทุกวัน มีพื้นที่ โดยตรง ปีพ.ศ. 2560 จนถึงสิ้นที่ 2561 จำนวนพื้นที่จำนวน 12 พื้นที่ และมีพื้นที่สำรวจอีก 6 พื้นที่




          ในปี พ.ศ. 2562  มีพื้นที่ลงไปดำเนินจำนวน 16 พื้นที่ จัดเป็นพื้นที่ลงจัดกิจกรรมการเรียนการสอน การเสริมทักษะ จำนวน 8 พื้นที่  อีก 8 พื้นที่สัญจรเป็นช่วงเวลา ด้วยมีเด็กน้อยและการก่อสร้างเพิ่งจะเริ่มต้นเท่านั้น     กิจกรรมที่ทางโครงการดำเนินการ

          ด้านการศึกษาสำหรับเด็กลูกกรรมกรก่อสร้าง

          1.ทางโรงเรียนเด็กก่อสร้างเคลื่อนที่ดำเนินการ  คือนำโรงเรียนเด็กก่อสร้างที่เป็นรถเคลื่อนที่ไปทุกสองอาทิตย์พบกัน 1 ครั้ง พร้อมการเสริมทักษะ การเล่นของเล่นเป็นสิ่งที่เด็กโหยหาแม้จะเป็นของเล่นมือสอง-มือสามแล้วก็ตาม  การทำกิจกรรม การเล่านิทาน  การร้อยสร้อย   การระบายสี  เป็น เด็กที่เข้าร่วมกิจกรรม ตั้งแต่ มกราคม-สิงหาคม 2562 จำนวน 165 คน เด็กไทยจำนวน 94 คน เด็กกัมพูชา จำนวน 71 คน

          2.การประสานงานในเรื่องให้เด็กได้รับการศึกษา หรือจัดหาอุปกรณ์การเรียนให้เด็ก เช่นโรงเรียนเปรมประชา โรงเรียนประชาอุทิศ  โรงเรียนวัดสร้อยทอง โรงเรียนวัดนครอินทร์   โรงเรียนบ้านบึงพัทยา  และทั้งประสานงานหางบประมาณ สำหรับเด็กกัมพูชาที่เข้าเรียน โรงเรียนสามัคคีบำรุงราษฎร์  จำนวน 2 คน

          3.ประสานงานและส่งต่อเด็กเร่ร่อน จำนวน 2 คน  เพื่อให้เด็กได้รับโอกาสที่ดีในการดำเนินชีวิต  เด็กชายชาตรีฯ ทำงานร่วมกับทีมบ้านพักเด็กและครอบครัวกรุงเทพในการรักษาเรื่องการเรียนรู้บกพร่อง  ต้องมีการตรวจสุขภาพจิตของแม่และของเด็ก  ผลออกมาจำเป็นต้องส่งเด็กเข้ารับการรักษาอย่างต่อเนื่อง  

          4.ประสานงานในการจัดหาอุปกรณ์การเรียนให้กับกลุ่มเด็กที่เข้าเรียนในระบบการศึกษา จำนวน 36 คน  ซึ่งมีกระเป๋า รองเท้าเท่าที่ทางโครงการฯมี สมุด อุปกรณ์การเรียน สีไม้ สีเทียน  สำหรับการจัดหาชุดนักเรียน ชุดปฏิบัติธรรม ชุดเสื้อผ้าตามจังหวัด  ขอพิจารณาเป็นรายกรณี  สิ่งที่ต้องจ่ายค่าใช้จ่าย  โดยเฉพาะเด็กชาวกัมพูชาที่เข้าเรียนจำนวน 2 คน ที่โรงเรียนสามัคคีบำรุงราษฎร จังหวัดปทุมธานี  ทางโครงการฯ จ่ายร่วมกับครอบครัวจำนวน 80 เปอร์เซ็นต์


          ด้านในเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน  เด็กพิการ

            1.ในด้านการเยี่ยมเยียน เพื่อเป็นการสร้างความเข้าใจในการดูแล  ให้คำปรึกษาแก่ครอบครัวในการเลี้ยงดูแลเด็กที่พิการ และพิการแบบติดเตียง การแบ่งปัน ข้าวสารอาหารแห้ง นม ขนมหวาน  แพมเฟิส และเครื่องใช้สำหรับเด็ก สบู่ ยาสีฟัน  เป็นครั้งคราว

          2.แนะนำครอบครัวของเด็กหญิงพนทิพา  อาจเค  มีความพิการทางสมอง ที่เกิดจากอาการชัก  ในช่วงอายุ 5 ปี  ซึ่งเป็นผลมาจากไข้สูง แล้วไม่ได้พาไปหาหมอ เพียงแค่ให้กินยาแก้ปวด  จึงส่งผลกลายเป็นพิการ  ทั้งครอบครัวพยายามให้เด็กได้เข้าถึง  ตั้งแต่บัตรคนพิการ  การทำบัตรประชาชนที่ควรได้รับการดูแล  ทางโครงการลงเยี่ยมสม่ำเสมออย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง

          3.แนะนำครอบครัวของเด็กชายวิชา  นิยมพันธ์  มีความพิการทางสมองตั้งแต่กำเนิด  เป็นครอบครัวเมื่อคลอดออกมาพร้อมความพิการทางสมอง  แม่เด็กได้ปรึกษาคุณหมอในการรักษาพยาบาลตลอด  แต่ทางโรงพยาบาลบอกว่ารักษาตามอาการที่เกิดของเด็ก  แต่ครอบครัวก็ดูแลเด็กอย่างต่อเนื่อง  พาไปฝึกการเดิน การช่วยเหลือตนเอง  แต่มีภาวะกล้ามเนื้ออ่อนแรงด้วย  เสียงญาติพี่น้องหลายคนก็บอกว่าส่งเด็กน้อยให้ไปอยู่สถานสงเคราะห์เถอะ  พ่อกับแม่พูดว่า  ดูแลกันไปจนตาย  สิ้นบุญสิ้นวาสนาก็ หมดเวรหมดกรรม

          คำบอกเล่าที่กล่าวมาข้างต้นเพียงจุดเริ่มต้นของโครงโรงเรียนเด็กก่อสร้างเคลื่อนที่เท่านั้น  ย้อนกลับไปที่น้องนักข่าวว่า  อยากฟังต่อไหม

          น้องนักข่าว  รถโรงเรียนเด็กก่อสร้างเคลื่อนที่คันเดียว สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงในการทำงานได้อย่างมากเลย 

          อย่างไรของติดตามการลงพื้นที่และรู้เรื่องข้อมูลในรายละเอียด  ครูเล่าได้สนุกมาก  อนุญาตที่จะลงในหนังสือพิมพ์เป็นตอนๆ